คนอ้วนสุขภาพดี …. มีจริงหรือ (Is healthy obesity a thing?)


คนอ้วนสุขภาพดี …. มีจริงหรือ (Is healthy obesity a thing?) ถ้ายังพอจำกันได้ พี่เคยเขียนเรื่องคนอ้วนกลางลำตัว 2 ลักษณะ เมื่อสักประมาณ 3 เดือนที่แล้ว ในโพสต์นั้นอธิบายคนอ้วน 2 ประเภทคือ

– อ้วนพุงมีลักษณะนิ่มย้อยลงตามแรงโน้มถ่วง ซึ่งบ่งบอกว่าไขมันสะสมอยู่ชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) กับ

– อ้วนพุงแน่นแข็งอยู่กลางลำตัว ไม่ย้อยลง บ่งบอกถึงไขมันสะสมอยู่ใต้ชั้นกล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน (Visceral Fat)

รูปที่ 1 : ความแตกต่างของคนอ้วน 2 แบบ แบบที่ 1 (ทางซ้ายมือ) เป็นคนอ้วนที่มี Personal Fat Threshold (เพดานสะสมไขมัน)สูง จะเห็นว่าค่าเมตาบอลิสมต่างๆในกรอบสีฟ้าและเทา ยังคงปรกติ จำนวนเซลล์ไขมันขยายได้มาก ปริมาณไขมันในแต่ละเซลล์ไม่เยอะเท่าคนอ้วนแบบที่ 2 แบบที่ 2 (ทางขวามือ) เป็นคนอ้วนที่มี Personal Fat Threshold ต่ำ เซลล์ไขมันเพิ่มจำนวนได้ไม่มากเท่าความอ้วนแบบที่1 จึงมีขนาดเซลล์ไขมันใหญ่กว่า และเนื่องจากมี เพดานสะสมไขมันต่ำ ไขมันที่เกินจึงหาที่สะสมใหม่เกิดเป็นการสะสมบนอวัยวะภายใน เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจ ปอด ค่าเมตาบอลิกต่างๆผิดปรกติหมด
รูปที่ 1 : ความแตกต่างของคนอ้วน 2 แบบ แบบที่ 1 (ทางซ้ายมือ) เป็นคนอ้วนที่มี Personal Fat Threshold (เพดานสะสมไขมัน)สูง จะเห็นว่าค่าเมตาบอลิสมต่างๆในกรอบสีฟ้าและเทา ยังคงปรกติ จำนวนเซลล์ไขมันขยายได้มาก ปริมาณไขมันในแต่ละเซลล์ไม่เยอะเท่าคนอ้วนแบบที่ 2 แบบที่ 2 (ทางขวามือ) เป็นคนอ้วนที่มี Personal Fat Threshold ต่ำ เซลล์ไขมันเพิ่มจำนวนได้ไม่มากเท่าความอ้วนแบบที่1 จึงมีขนาดเซลล์ไขมันใหญ่กว่า และเนื่องจากมี เพดานสะสมไขมันต่ำ ไขมันที่เกินจึงหาที่สะสมใหม่เกิดเป็นการสะสมบนอวัยวะภายใน เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจ ปอด ค่าเมตาบอลิกต่างๆผิดปรกติหมด

 

Roy Taylor และ Rury Holman นักวิจัยจาก Newcastle University ตีพิมพ์บทความในปี 2015 อธิบายความอ้วนลักษณะดังกล่าวทั้งสอง โดยนิยามคำว่า Personal Fat Threshold (PFT) ขึ้นมา เพื่ออธิบายว่า เซลล์ไขมันที่ทำหน้าที่เก็บน้ำตาลส่วนเกินในกระแสเลือดที่เปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมในคนอ้วนกลุ่มแรกนั้น เป็นกลไกของร่างกายที่มหัศจรรย์มาก เพื่อปกป้องไม่ให้น้ำตาลท่วมท้นอยู่ในกระแสเลือดนั่นเอง

ความสามารถที่ร่างกายจะขยายโกดังเก็บไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ( เพิ่มจำนวน Subcutaneous Fat Cell) ได้มากแค่ไหน ก่อนที่ไขมันจะเข้าไปสะสมในอวัยวะภายใน เช่นตับ ตับอ่อน (Visceral Fat) แล้วเกิดปัญหาต่อสุขภาพนั้น เราเรียกความสามารถนี้ว่า Personal Fat Threshold (PFT) ความสามารถนี้ขึ้นอยู่กับ พันธุกรรม วิถีในการดำเนินชีวิต (Life Style) และสิ่งแวดล้อม แต่ละคนมีความสามารถนี้ไม่เท่ากัน บางคนสามารถสะสมไขมันใต้ชั้นผิวหนังได้มาก ในขณะที่บางคนมีความสามารถนี้น้อย คือน้ำหนัก(ไขมัน)เกินไปไม่มาก ก็เกิดความผิดปรกติทางระบบเมตาบอลิสมขึ้นแล้ว เช่น เบาหวานประเภทที่ 2 ไขมันพอกตับ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า TOFI (Thin Outside Fat Inside)

Personal Fat Threshold นี้ จึงเป็นที่มาของบทความของ Alex Leaf สุดหล่อขวัญใจพี่ปุ๋ม ที่พี่อ้างอิงมาเขียนในโพสต์นี้ เพราะคนที่มี PFT สูงจะรองรับการเก็บไขมันใต้ชั้นผิวหนังได้มาก แต่ก็ยังคงมีตัวชี้วัดสุขภาพทางเมตาบอลิก เช่นความไวต่ออินซูลิน ระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต เป็นปรกติอยู่ เรียกคนแบบนี้ว่า คนอ้วนสุขภาพดี (Healthy Metabolic Obesity-HMO)

ถ้าอย่างนั้น จะถือว่า คนอ้วนสุขภาพดี มีอยู่จริงหรือ

ซึ่ง Alex ก็ได้เขียนบทความใน blog ของเขา โดยรวบรวมงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า คนอ้วนแต่แข็งแรง ไม่มีอยู่จริง คนอ้วนแต่(ดูเหมือน) แข็งแรง มีปัจจัยทางระบบเมตาบอลิสม เช่น ความไวต่ออินซูลิน ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด ความดันโลหิต เป็นปรกติก็เฉพาะในช่วงแรกที่การสะสมไขมันยังไม่เกิน PFT เท่านั้น ก่อนที่มันจะเลวร้ายลง

ในงานวิจัยที่ Alex อ้างอิง พบว่า 50% ของคนอ้วนที่ยังมีสุขภาพ ของระบบเมตาบอลิสมดีอยู่ (MHO) จะพัฒนาความผิดปรกติ ทางระบบเมตาบอลิสมอย่างน้อย 1 อย่าง ภายในระยะเวลา 3-10 ปี ซึ่งมากกว่าคนที่มีน้ำหนัก อยู่ในเกณฑ์ปรกติถึงเท่าตัว และความผิดปรกติ จะเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของความอ้วน และระยะเวลาที่อ้วน (อ่านมาถึงตรงนี้ พี่ล้องห้าย เพราะปล่อยให้อ้วนไปถึง 92.8 kg อยู่ 10 ปี ?)

นอกจากนั้น ในขณะที่การสะสมไขมันใต้ชั้นผิวหนังของคนอ้วนแบบ MHO ยังไม่เกิน PFT และยังไม่ได้มีความผิดปรกติทางระบบเมตาบอลิสมใดๆ แต่กลับพบว่า มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่ไม่แตกต่างจากคนอ้วนที่สุขภาพระบบเมตาบอลิสมผิดปรกติเลย (Unhealthy Metabolic Obese-UMO)

รูปที่ 2 : ในคนที่มีค่าระบบเมตาบอลิสมผิดปรกติ (MUHO) จากความอ้วนระดับอันตราย แค่ลดน้ำหนักได้ 10% ก็ช่วยปรับปรุงให้ร่างกายกลับมาเป็นคนอ้วนที่ระบบเมตาบอลิสมปรกติ (MHO) ได้ และเมื่อลดน้ำหนักต่อไปอีก 20% ก็สามารถกลายเป็นคนน้ำหนักปรกติที่มีระบบเมตาบอลิสมปรกติได้
รูปที่ 2 : ในคนที่มีค่าระบบเมตาบอลิสมผิดปรกติ (MUHO) จากความอ้วนระดับอันตราย แค่ลดน้ำหนักได้ 10% ก็ช่วยปรับปรุงให้ร่างกายกลับมาเป็นคนอ้วนที่ระบบเมตาบอลิสมปรกติ (MHO) ได้ และเมื่อลดน้ำหนักต่อไปอีก 20% ก็สามารถกลายเป็นคนน้ำหนักปรกติที่มีระบบเมตาบอลิสมปรกติได้

 

นอกจากนั้น ยังพบความเกี่ยวพันระหว่างคนอ้วนแบบ MHO กับภาวะหลอดเลือดอุดตัน ในระดับต่ำๆ ที่ยังไม่ปรากฎอาการทางคลินิกชัดเจน (Subclinical Atherosclerosis) ไขมันพอกตับ สมรรถนะไตลดลง และเบาหวานประเภทที่ 2 อีกด้วย

Alex ได้ให้ข้อมูลว่า ยิ่งมีจำนวนเซลล์ไขมัน และปริมาณไขมันในแต่ละเซลล์มากเท่าไหร่ จะมีการปล่อยสารเคมีความเครียดออกมามากเท่านั้น (Adipocytokines)จึงทำให้ในคนอ้วนไขมันทุกคน มีปฏิกิริยาอักเสบต่ำๆอย่างเรื้อรังภายในร่างกาย (ซึ่งเป็นภาวะที่น่ากลัวที่สุด นำไปสู่โรคไม่ติดเชื้อเรื้อรังทุกชนิด-พี่ปุ๋ม)

รูปที่ 3 : ตารางอธิบาย ปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนมีเพดานสะสมไขมันไม่เท่ากัน พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต สิ่งแวดล้อม
รูปที่ 3 : ตารางอธิบาย ปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนมีเพดานสะสมไขมันไม่เท่ากัน พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต สิ่งแวดล้อม

บทสรุป

– ไม่มีคนอ้วน (ไขมัน) สุขภาพดี ถึงแม้จะยังไม่ปรากฎความผิดปรกติ ทางระบบเมตาบอลิสมให้เห็นก็ตาม

– อย่าปล่อยให้น้ำหนักเกินมาก เป็นระยะเวลานาน โดยไม่จัดการ เพราะเห็นว่าเมื่อตรวจร่างกายประจำปี ค่าเคมีในเลือด ก็ยังอยู่ในช่วงค่าปรกติ (พี่ปุ๋มเป็นแบบนี้เลย) เพราะเรากำลังสะสมระเบิดเวลาในร่างกาย จากปฏิกิริยา อักเสบเรื้อรังที่เซลล์ไขมันสร้าง ในที่สุดก็ระเบิดออกมา เป็นโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรัง ที่เราไม่อยากพบเจอ….ขจัดไขมันส่วนเกินกันเถอะค่ะ

 

อ่านบทความอื่นๆเกี่ยวกับความอ้วน

อ่านบทความอ้างอิง