ทำไมแป้งผ่านขบวนการแปรรูป (processed flour) ซึ่งจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ที่ใช้ทำขนมปัง เบเกอรี่ พาสต้า ซาลาเปา พิซซ่า ฯลฯ จึงส่งผลทางลบต่อสุขภาพได้มากกว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มาจากธรรมชาติ


ทำไมแป้งผ่านขบวนการแปรรูป (processed flour) ซึ่งจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ที่ใช้ทำขนมปัง เบเกอรี่ พาสต้า ซาลาเปา พิซซ่า ฯลฯ จึงส่งผลทางลบต่อสุขภาพได้มากกว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มาจากธรรมชาติ โพสต์นี้มีคำตอบ

ถ้าพวกเราสังเกตดู บ่อยครั้งมากๆ ที่พี่ปุ๋มเขียนในโพสต์ เขียนตอบคอมเมนต์พวกเราว่า ให้หลีกเลี่ยงแป้งผ่านขบวนการแปรรูปทางอุตสาหกรรมให้มากที่สุด หลายคนเข้าใจได้ว่า ก็แป้งแบบนั้นมันย่อยและดูดซึมได้รวดเร็ว และกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินออกมาในปริมาณที่มากกว่าปรกติ เพื่อพากลูโคสออกไปจากเลือด และมักจะลงเอยด้วยการทำให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลงต่ำกว่าปรกติ ส่งผลเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ ให้เราหิวแป้งและน้ำตาล จากการกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนหิวเกรลิน แล้วก็กินแป้งผ่านขบวนการเข้าไปใหม่ วนเวียนไปเช่นนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมความอ้วนไขมัน เบาหวาน จึงมาเยือน เมื่อกินแป้งกลุ่มนี้เป็นประจำระยะเวลายาวนาน

โพสต์นี้ พี่จะเขียนให้พวกเราเข้าใจลึกเข้าไปอีก ถึงกลไกหลัก 2 กลไก ที่ทางเดินอาหารตอบสนองต่อแป้งผ่านขบวนการ เพื่อพวกเราจะได้หยุดกินมันเสียที พี่หยุดกินแป้งพวกนี้มาได้ 8 เดือนแล้ว ก็มีชีวิตสุขสบาย ไม่คร่ำครวญหวนหาแต่อย่างใด สุขภาพดีขึ้น รอบเอวลดไป 7 นิ้ว น้ำหนักลดไปเกือบ 20 kg ความเห็นส่วนตัวของพี่ปุ๋ม แป้งผ่านขบวนการเหล่านี้ และน้ำตาลเป็นสาเหตุที่แท้จริงของระบาดวิทยาของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิกทั่วโลก ที่เกี่ยวพันกับโรคร้ายแรงหลายโรค มาดูกลไกหลักที่ว่ากัน

กลไกหลักของทางเดินอาหารอย่างแรก ที่ตอบสนองต่อสารอาหาร

1. กลไกการสร้างฮอร์โมนจากเซลล์ทางเดินอาหาร (Entero-Endocrine Hormone Releasing Mechanism)

ตลอดทางเดินอาหารตั้งแต่ กระเพาะไปจนถึงลำไส้ใหญ่ จะมีเซลล์ฝังอยู่ในผนังทางเดินอาหาร เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวตรวจจับสารอาหาร (Nutrients Sensor) ที่เข้ามา และสร้างฮอร์โมน ส่งสัญญาณให้อวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขบวนการเผาผลาญอาหาร ให้ตอบสนอง โดยเฉพาะตับอ่อน เนื้อเยื่อไขมัน ให้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เซลล์ในผนังทางเดินอาหารที่ว่านี้ มีที่สำคัญๆ อยู่ 2 ชนิด เรียกว่า K-Cell และ L-Cells

K-Cells และ L-Cells จะมีการกระจายตัวอยู่ตลอดทางเดินอาหารด้วยความหนาแน่นไม่เท่ากัน K-Cells จะกระจายอยู่หนาแน่นตั้งแต่กระเพาะอาหารลงไปถึงลำไส้เล็กส่วนต้นเท่านั้น ในขณะที่ L-Cells จะกระจายตัวหนาแน่นตั้งแต่บริเวณลำไส้เล็กส่วนกลาง ส่วนปลาย ถึงลำไส้ใหญ่

K-Cells จะผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ GIP (Glucose dependent Insulinotropic Polypeptide) ส่วน L-Cells จะผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ GLP-1 (Glucagon Like Peptide) (ดูรูปที่ 1 และ 2 แสดงกระจายตัวของ K-Cells, L-Cells)

K-Cells จะผลิตฮอร์โมน GIP ทันทีเมื่อเรากินอาหารเข้ามา ผ่านกระเพาะ ถึงลำไส้เล็กส่วนต้น มันจะตรวจจับสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยเป็นกลูโคสแล้วได้ดีมาก ฮอร์โมน GIP ทำหน้าที่สำคัญ 2 อย่างเมื่อมันตรวจรับรู้ถึงกลูโคส

1.1 ส่งสัญญาณไปหาตับอ่อนทันที จับกับตัวรับ(GIP-Receptor) ที่เบต้าและอัลฟ่าเซลล์ของตับอ่อน ให้เตรียมสร้างอินซูลิน และกลูคากอน รอไว้เลย

1.2 ส่งสัญญาณไปถึงเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) จับกับตัวรับ(GIP-Receptor) ที่ผนังเซลล์ไขมันเช่นกัน ให้เตรียมสะสมไขมันเข้าไปไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน

ส่วน L-Cells จะผลิตฮอร์โมน GLP-1 เมื่ออาหารผ่านลงมาถึงบริเวณลำไส้เล็กส่วนกลางถึงปลาย หน้าที่ของมันที่เนื้อเยื่อตับอ่อน และเนื้อเยื่อไขมันคล้ายกับ GIP แต่ที่แตกต่างคือ GLP-1 ไม่กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนกลูคากอนเหมือน GIP (ดูรูปที่ 3 สรุปหน้าที่ของ GIP และ GLP-1 ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ)

มาถึงจุดที่สำคัญมากๆๆๆ แล้ว อ่านให้ดีเลยนะคะ

โดยการกินอาหารธรรมชาติ ที่ผ่านขบวนการน้อย (Real Food)การทำงานของฮอร์โมน GIP จะสมดุลกับ ฮอร์โมน GLP-1 อาหารจะถูกย่อยและดูดซึมที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น กลาง และปลายอย่างสมดุล กระตุ้นตับอ่อนให้ทำงานเป็นปรกติ นอกจากนั้น ฮอร์โมนอิ่มที่ถูกสร้างเป็นส่วนใหญ่ที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ถูกสร้างให้ทำหน้าที่ทำให้เราอิ่มด้วย แต่ถ้าขบวนการย่อยและดูดซึมคาร์โบไฮเดรต เกิดขึ้นได้รวดเร็วและจำนวนมากตั้งแต่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น จากการที่แป้งผ่านขบวนการแปรรูป มีการเอาใยอาหาร ไขมัน และโปรตีนออกไปเป็นส่วนใหญ่ จึงถูกย่อยและดูดซึมได้รวดเร็วเกือบหมดตั้งแต่ลำไส้เล็กส่วนต้น ไม่มีการหน่วงเวลาให้แป้งผ่านขบวนการนี้ค่อยๆเดินทางผ่าน และไปย่อยและดูดซึมที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายเลย

มันจึงกระตุ้น K-Cells ให้สร้าง GIP ในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการสร้างอินซูลินในปริมาณมากและรวดเร็วเช่นกัน เซลล์ไขมันเร่งการสะสมน้ำตาลส่วนเกินเป็นไขมันเก็บไว้ และสำคัญสุด ฮอร์โมนอิ่มไม่ถูกสร้าง จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมกินแป้งผ่านขบวนการพวกนี้ในรูปขนมปัง เค้ก ซาละเปา พิซซ่า พาสต้า โดนัท มาอย่างยาวนาน ถึงได้กินเท่าไหร่ไม่อิ่ม ทำให้นอกจากจะอ้วนไขมันแล้ว ยังเสี่ยงต่ออาการผิดปรกติทางเมตาบอลิกอื่นๆ ที่เกิดจากภาวะมีอินซูลินสูงในกระแสเลือดนานๆ เช่น เบาหวาน ไขมันพอกตับ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือผิดปรกติ จากฮอร์โมน GIP กระตุ้นให้ตับอ่อนสร้างอินซูลินตลอดเวลา

กลไกแรกของฮอร์โมนจากทางเดินอาหารนี้ก็ว่าสำคัญแล้ว เจอกลไกที่ 2 ซ้ำเข้าไปอีก แป้งผ่านขบวนการกลายเป็นปีศาจร้ายเลยค่ะ ซึ่งกลไกที่ 2 คืออะไีร ทำไมพวกเราจึงควรบริโภคอาหารจากธรรมชาติ(REAL FOOD) ทำไมไม่ควรบริโภคทั้งขนมปังขาว และขนมปังโฮลวีท ทำไมบริโภคผักสดดีกว่าผักต้ม ดีกว่าผักปั่น และทำไม LCHF Diet จึงช่วยปรับสมดุลกลไกทั้ง 2 นี้ เราจะมาต่อกันวันพรุ่งนี้นะคะ เพื่อป้องกันอาการ หัวบวม หัวเบลอ ??

www.lchf-rd.com


Previous articleสภาวะของร่างกายเมื่อปรับการทานอาหารมาเป็น Low Carb High Fat
Next articleหักดิบ…สู่ชีวิตโลว์คาร์บ (1)
ภญ.โสภิตา ศิริรัตน์
พี่ปุ๋มเคยมีน้ำหนักถึง 92.8 กิโลกรัม เข้าข่ายอ้วนระดับอันตรายเลยค่ะ ปัจจุบันพี่ปุ๋มน้ำหนักลดลง 15 กิโลกรัม เอวลดลง 5 นิ้ว ไขมันลดลงไป 4.8% ซึ่งถึงแม้จะยังมีไขมันส่วนเกินที่ต้องขจัดออกอีกก็ตาม พี่ปุ๋มก็อยากจะแชร์ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือสุขภาพดีๆเยอะมาก รวมทั้งตำราวิชาการอื่นๆ นำมาปฏิบัติกับตัวเอง จนเข้าใจการทำงานของร่างกายในการสะสมและขจัดไขมันออก จึงอยากแบ่งปัน และอยากจะให้ทุกคนได้เห็นพัฒนาการการขจัดไขมันของพี่ต่อไป พร้อมๆกับชวนเพื่อนๆให้มาขจัดไขมันส่วนเกินไปด้วยกัน