เมลาโทนิน : ฮอร์โมนแห่งการนอนหลับ หรือ ฮอร์โมนเฉพาะที่แท้จริงสำหรับไมโตคอนเดรียกันแน่ (ตอนที่ 1)


แหล่งข้อมูล : https://www.theenergyblueprint.com/the-secret-of-melatonin/#_edn17

 

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เมลาโทนิน คือฮอร์โมนแห่งการนอนหลับ ซึ่งมันก็ใช่จริงๆ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า มีความลับอีกหนึ่งอย่างเกี่ยวกับเมลาโทนิน ซึ่งไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ความลับของเมลาโทนินข้อนี้อาจสำคัญกว่าบทบาทของมันในการช่วยการนอนหลับเสียอีก

 

บทความนี้ดีมากๆ แล้วก็ยาวมากๆค่ะ ต้องแบ่งเป็น 2-3 ตอน ในตอนที่ 1 นี้ พี่จะสรุปความลับสำคัญของ เมลาโทนิน  ที่สำคัญมากกว่าเรื่องการนอนหลับ ให้พวกเราได้อ่านกัน

 

เมลาโทนิน แท้จริงแล้ว คือฮอร์โมนแห่งการสร้างพลังงาน

เมลาโทนินไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นสารกระตุ้นที่ออกฤทธิ์สร้างพลังงานทันใจเหมือนคาเฟอีน หรือสารกระตุ้นตัวอื่นๆ แต่เมลาโทนินทำงานโดยการยกเครื่องระดับพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานระดับไมโตคอนเดรียที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

รูปที่ 1 : โครงสร้างทางเคมีของ เมลาโทนิน
รูปที่ 1 : โครงสร้างทางเคมีของเมลาโทนิน

 

เมลาโทนิน ทำงานอย่างไร

เมลาโทนินมีความสำคัญสำหรับคุณภาพการนอน แค่คุณภาพการนอนที่ดีก็มีความสำคัญอย่างมหาศาลแล้วต่อระดับพลังงานภายในเซลล์ แต่ที่เหนือไปกว่านั้นที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนน้อยมากทราบก็คือ

 

“ เมลาโทนินเป็นสารที่ทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพไมโตคอนเดรียที่สำคัญที่สุด“

 

เราทราบกันดีว่า ไมโตคอนเดรียคือเครื่องกำเนิดพลังงานให้เซลล์จำนวนมหาศาลในร่างกาย ถ้าเราจะพูดถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังที่สุด ที่มีอยู่ในระดับเซลล์และระดับไมโตคอนเดรีย มันไม่ใช่วิตามินซี วิตามินอี หรือ อะซาอี กอจิเบอร์รี่ แต่มันคือ การหลับลึก

ถึงแม้ว่าการหลับลึกจะไม่ใช่สารต้านอนุมูลอิสระที่เราจะกินเข้าไปได้ แต่การนอนหลับลึกทรงพลังกว่าสารต้านอนุมูลอิสระหลายร้อยเท่า

 

เมลาโทนิน

 

มี 3 สิ่งที่เกิดขึ้น แล้วทำให้การนอนหลับลึก ออกฤทธิ์เหมือนสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังได้ขนาดนั้น

1 เมลาโทนิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระให้ไมโตคอนเดรียที่ทรงพลังที่สุด

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่สมองสร้างขึ้นมา เพื่อกระตุ้นการนอนหลับเมื่อเริ่มไม่มีแสงอาทิตย์ (อย่าลืมว่าร่างกายมนุษย์ถูกควบคุมด้วยระบบนาฬิกาชีวภาพที่ทำงานสอดคล้องกับแสงอาทิตย์ และมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแพตเทิร์นการนอนในลักษณะ diurnal คือนอนเมื่อไร้แสง ตื่นเมื่อมีแสง-พี่ปุ๋ม) เมลาโทนินมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ สิ่งสำคัญที่เราต้องทราบก็คือ เมลาโทนินสามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในไมโตคอนเดรียได้ เพื่อปกป้องมันจากความเสียหายจากปฏิกิริยาสันดาป ในขณะที่สารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญ อย่างเช่นวิตามินเอ ซี และอี ไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในไมโตคอนเดรียได้  ด้วยเหตุนี้การเสริมวิตามินเอ ซี และ อี จึงไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการต้านกระบวรการแก่ชรา และการป้องกันโรค [48] ซึ่งนักวิจัยคาดว่าอาจเป็นเพราะสาเหตุนี้

2 เมลาโทนิน ควบคุมและขยายกระบวนการกำจัดขยะ/รีไซเคิล ทั้งภายในเซลล์ (Autophagy)

และภายในไมโตคอนเดรีย (Mitophagy) [1][2] Autophagy และ Mitophagy เป็นกระบวนการที่เซลล์และไมโตคอนเดรีย ย่อยและรีไซเคิลชิ้นส่วนที่เสียหาย และนำกลับมาใช้ สร้างชิ้นส่วนใหม่ที่ใช้งานได้ กระบวนการทั้งสองนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งยวดในการป้องกันโรคจำนวนมาก  รวมถึงการปกป้องเซลล์จากการเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง หรือแม้กระทั่งปกป้องเซลล์จากกระบวนการแก่ชรา ดังนั้น ถ้า Mitophagy มีกระบวนการกำจัดขยะ/รีไซเคิลชิ้นส่วนที่เสียหายภายในไมโตคอนเดรียไม่สมบูรณ์เพียงพอ ไมโตคอนเดรียก็กำลังทำงานผลิตพลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปการสร้างพลังงานจากไมโตคอนเดรียให้กับเซลล์ก็จะยิ่งลดลง ดังนั้นกระบวนการ Mitophagy ภายในไมโตคอนเดรีย จึงมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการรักษาระดับพลังงานภายในเซลล์

3 เมลาโทนิน ช่วยสร้างระบบต้านอนุมูลอิสระภายใน

เพื่อปกป้องร่างกาย ระบบป้องกันร่างกายภายในผ่านสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างเองนี้ มีความสำคัญยิ่งกว่าสารต้านอนุมูลอิสระชนิดใดๆ ที่เราเคยกินจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกคืนขณะที่เรานอนหลับ ระบบป้องกันนี้จะมีการซ่อมแซม สร้างใหม่ เติมสารอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างได้เองให้เต็มระบบ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันใหม่ [3][4][5] จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรานอนไม่พอ หรือนอนไม่มีคุณภาพ แน่นอน ไมโตคอนเดรียก็จะสร้างพลังงานโดยมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สร้างขึ้นภายในร่างกายเพื่อส่งให้ไมโตคอนเดรียในปริมาณน้อยลง ผลลัพธ์ก็คือ ไมโตคอนเดรียเกิดความเสียหายเรื้อรังที่ไม่ได้รับการซ่อมแซม เมื่อเป็นเช่นนี้ ไมโตคอนเดรียจะเริ่มปิดโหมดการสร้างพลังงาน เปลี่ยนไปอยู่ในโหมดป้องกันตัวมันเองจากภัยคุกคามต่างๆ เช่น อนุมูลอิสระที่เกิดจากการสันดาปอาหาร สารพิษ เป็นต้น

 

ปรากฏการณ์ Radical Avoidance

เมลาโทนินคือสารต้านอนุมูลอิสระสำหรับไมโตคอนเดรียที่สำคัญยิ่ง มันไม่เพียงแค่สะเทิ้นอนุมูลอิสระโดยตรงเท่านั้น แต่มันยังลดการสร้างอนุมูลอิสระภายในไมโตคอนเดรียอีกด้วย ผ่านปรากฎการณ์ที่เรียกว่า  Radical Avoidance

เมลาโทนินจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Radical Avoidance ได้นั้น เกิดจากการเร่งการไหลของอิเล็กตรอนผ่าน Electron Transport Chain (ETC) และกระตุ้นให้มีการซึมของอิเล็กตรอนผ่านรูบนผิวไมโตคอนเดรียได้ดีขึ้น นั่นหมายถึงการสร้างพลังงานได้รวดเร็วขึ้นโดยถูกยับยั้งด้วยอนุมูลอิสระน้อยลง

พี่ปุ๋มวางลิงค์จาก Youtube เพื่ออธิบายการสันดาปอาหารเพื่อสร้างพลังงานในไมโตคอนเดรีย ในรูปแบบ animation ให้พวกเราศึกษากันด้วยค่ะ  ETC เป็นขั้นตอนที่ 3 ในการสร้างพลังงาน (ATP) ถ้าเข้าใจชีวเคมีเรื่องนี้ เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมโภชนาการคาร์บต่ำ ดีต่อสุขภาพไมโตคอนเดรีย

https://youtu.be/7J4LXs-oDCU

นี่จึงอาจอธิบายได้ว่า ทำไมเมลาโทนินจึงปกป้องไมโตคอนเดรียจากอนุมูลอิสระที่เกิดจากการสันดาปอาหาร ได้ดีกว่าสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นๆ มีงานวิจัยที่ระบุว่า เมลาโทนินช่วยฟื้นฟูการทำงานของไมโตคอนเดรียในสัตว์ทดลองที่แก่ และในสัตว์ทดลองที่มีพยาธิของโรคแบบต่างๆ [6]

พบเมลาโทนินในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งสัตว์ พืช สาหร่าย(algae) รา (fungi) และแม้แต่แบคทีเรีย [7] อันที่จริงแล้วพบเมลาโทนินตั้งแต่เมื่อ 3 พันล้านปีที่แล้ว ในแบคทีเรียที่สังเคราะห์แสงได้ ซึ่งเมลาโทนินทำหน้าที่ปกป้องแบคทีเรียจากความเสียหายที่เกิดจากการสันดาปอาหารเพื่อสร้างพลังงาน [8]

ดังนั้น เมลาโทนินที่เราเรียกว่าฮอร์โมนหลับนี้ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 3 พันล้านปีที่แล้ว ด้วยบทบาทแท้จริงในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระให้แบคทีเรียเซลล์เดียว ส่วนบทบาทของเมลาโทนินกับการนอนหลับและการควบคุมระบบนาฬิกาชีวภาพนั้นเพิ่งมาพบในช่วงหลังๆเท่านั้น

 

รูปที่ 2 : ทฤษฎีการกำเนิดไมโตคอนเดรีย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ไมโตคอนเดรียมีวิวัฒนาการมาจากแบคทีเรียสีม่วง ซึ่งไม่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ และถูกกลืนกินโดย สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่มีการสันดาปพลังงานด้วยการไม่ใช้ออกซิเจน
รูปที่ 2 : ทฤษฎีการกำเนิดไมโตคอนเดรีย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ไมโตคอนเดรียมีวิวัฒนาการมาจากแบคทีเรียสีม่วง ซึ่งไม่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ และถูกกลืนกินโดย สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่มีการสันดาปพลังงานด้วยการไม่ใช้ออกซิเจน

 

ที่มันน่ามหัศจรรย์มากก็คือ เมลาโทนินที่พบในแบคทีเรียสีม่วงซึ่งไม่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบนั้น เป็นแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าวิวัฒนาการมาเป็นไมโตคอนเดรีย [9] เมลาโทนินจึงได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนที่แท้จริงในการปกป้องไมโตคอนเดรีย

นั่นหมายความว่า ร่างกายไม่ได้วิวัฒนาการระบบต้านอนุมูลอิสระภายในให้ดีขึ้นมาเรื่อยๆตลอด 3 พันล้านปีที่ผ่านมา แต่ระบบต้านอนุมูลอิสระภายในมีมาตั้งแต่เริ่มต้นกำเนิดชีวิตแล้ว

ในขณะที่กลูต้าไธโอนและวิตามินซี จะสะเทิ้นอนุมูลอิสระได้ครั้งละหนึ่งตัว แต่เมลาโทนินมีความสามารถที่จะสะเทิ้นอนุมูลอิสระได้ครั้งละหลายตัว และให้ผลส่งเสริมฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อใช้ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่น [10][11] เมื่อเมลาโทนินตัวหนึ่งสูญเสียไปจากการทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่น 3-4 ชนิด จะเข้ามาทำหน้าที่แทนเมลาโทนินทันที [12]

 

ตอนที่หนึ่งก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ในตอนที่สองซึ่งน่าจะเป็นตอนจบพี่ปุ๋มจะสรุปต่อ

 

1 กลไกการออกฤทธิ์ที่สำคัญของเมลาโทนิน ที่ทำให้มันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังที่สุดในร่างกาย

2 ปัญหาการระบาดของระดับเมลาโทนินที่ต่ำลงในยุคปัจจุบัน

3 การรบกวนระบบนาฬิกาชีวภาพส่งผลต่อระดับเมลาโทนินอย่างไร

4 วิธีส่งเสริมการสร้างเมลาโทนินในร่างกาย

ขอความมีสุขภาพกายใจที่ดี จงสถิตอยู่กับทุกคน

 

อ่านบทความอื่นๆเกี่ยวกับการนอนหลับ


1 COMMENT