9 วิธีรักษาไมโตคอนเดรียให้แข็งแรงสมบูรณ์ (ภาค Infographic)
เย้…น้องๆ คิวแรงแซงทางโค้ง The Telomere Effect คืนนี้ค่ะ
พี่ตุ้นเห็นประโยชน์ของโพสต์เรื่องดังกล่าว จึงจัดทำเป็น Infographic เสร็จรวดเร็วมาก เพื่อให้พวกเราเข้าใจง่ายๆด้วยภาพ และคำอธิบายสั้นๆ พร้อมขยายความใต้ภาพ พวกเราจะได้ save เก็บไว้เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจ ไม่น่าเบื่อ
ขอบคุณพี่ตุ้นมากๆเลยค่ะ ถ้าไม่มีทั้งพี่ตุ้น พี่เมี่ยง คอยช่วยสนับสนุน เพจนี้ก็คงจะไม่เป็นที่รักของน้องๆมาได้ถึงขนาดนี้ค่ะ
ถ้าเห็นว่า Infographic นี้ดี ช่วยกันแชร์ไปให้คนที่เรารักและห่วงใย อยากให้เขามีสุขภาพดีกันเยอะๆนะคะ

เนื้อหาของสไลด์ไมโตคอนเดรียจงสตรองนี้พี่ปุ๋มสรุปจาก
Fat For Fuel : A Revolutionary Diet to Combat Cancer, Boost Brain Power, and Increase Your Energy (ตอนที่ 1)
เขียนโดย Dr. Joseph Mercola
บทนำ
✅ Dr.Joseph ได้เขียนในบทนำว่าเขามีความหลงใหลในการศึกษาหาความรู้ในการรักษาสุขภาพมากกว่า 50 ปีลองผิดมากกว่าลองถูกกว่าจะเข้าใจและต่อภาพปริศนาการมีสุขภาพที่ดีได้
✅ เขาเริ่มต้นความหลงใหลเรื่องการมีสุขภาพที่ดีในปี 1968 เมื่อเขาได้อ่านหนังสือชื่อ Aerobic เขียนโดย Dr. Ken Cooper ซึ่งนำเขาไปสู่การตัดสินใจเรียนแพทย์ในปี 1978 ในช่วงเวลานั้นโภชนาการที่ได้รับการส่งเสริมว่าทำให้สุขภาพดี ก็หนีไม่พ้นโภชนาการคาร์โบไฮเดรตสูงไขมันต่ำ ได้รับการ promote โดยมีเดียทั่วอเมริกา ในช่วงเวลานั้น เขาเองก็สนับสนุนโภชนาการแบบนี้เช่นกัน
✅ จนถึงปี 1995 หลังจากที่เขาได้ฟังเล็กเชอร์ของ Dr.Rosdale ว่า
“ มะเร็งและโรคเรื้อรังเกือบทุกชนิด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของขบวนการเมตาโบลิซึมภายในไมโตคอนเดรีย อันเป็นผลมาจากภาวะดื้อต่ออินซูลินและเลปติน จากการบริโภคคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป และจากการกระตุ้น mTOR metabolic signal pathway โดยการบริโภคโปรตีนเกิน” (พี่ต้องมีโอกาสเขียนเรื่อง mTOR อย่างละเอียดหนึ่งโพสต์แน่ๆ)
✅ มันคือจุดเริ่มต้นของการที่เขาเริ่มให้ความสนใจศึกษาไมโตคอนเดรียอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิซึมภายในไมโตคอนเดรียยังไม่มากก็ตาม แต่เขาเชื่อว่ามันจะคือความหวังใหม่ในการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังเกือบทุกชนิด และส่งเสริมการมีสุขภาพดี

ไมโตคอนเดรียคืออะไร

ไมโตคอนเดรีย เป็นอวัยวะเล็กๆที่มีอยู่ในเกือบทุกเซลล์

หนึ่งในบทบาทสำคัญของมันคือผลิตพลังงานโดยใช้ไขมันหรือน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงผสมกับออกซิเจนจากอากาศที่หายใจเข้าไป

ไมโตคอนเดรียหนักราว 10% ของน้ำหนักตัว มีจำนวนราวๆ หนึ่งหมื่นล้านล้านโมเลกุล (อ่านไม่ผิดค่ะ ไม่รู้จะเขียนตัวเลขยกกำลังเท่าไหร่ดี)ในร่างกายของผู้ใหญ่ นึกถึงขนาดของหัวเข็มจะมีไมโตคอนเดรียบรรจุอยู่ได้ 1,000,000,000 ตัว

เซลล์บางประเภทมีไมโตคอนเดรียมากเช่นเซลล์ไข่ของผู้หญิง(Oocyte) มีไมโตคอนเดรียนับแสนตัว ในขณะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์ผิวหนังมีไมโตคอนเดรียสองถึงสามตัวหรือไม่มีเลย

เซลล์ส่วนใหญ่รวมทั้งเซลล์ตับ มีไมโตคอนเดรียระหว่าง 80 ถึง 2000 ตัวต่อเซลล์ ยิ่งเซลล์มีกระบวนการเมตาบอลิสมที่แอคทีฟมากเท่าไหร่ ก็จะมีไมโตคอนเดรียมากเท่านั้น เช่น หัวใจ สมอง ตับ กล้ามเนื้อเป็นต้น

ไมโตคอนเดรียจะผลิตโมเลกุลพลังงานที่ชื่อ ATP

ตลอดเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ ในแต่ละวันไมโตคอนเดรียผลิต ATP หนักราว 110 ปอนด์ เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อเทียบกรัมต่อกรัมแล้ว ไมโตคอนเดรียผลิตพลังงานได้มากกว่าดวงอาทิตย์ 10,000 เท่า ต่อวินาที

ทุกเซลล์ในร่างกายต้องการพลังงานอย่างต่อเนื่องซึ่งได้มาจากการผลิตพลังงานของไมโตคอนเดรีย เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต

ATP เป็นกระแสของพลังงานที่ขับเคลื่อนทุกปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย ตั้งแต่การทำงานของสมองจนถึงการเต้นของหัวใจ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเป็นเนื้อเยื่อที่หนาแน่นไปด้วยพลังงานมากที่สุด เพราะมีไมโตคอนเดรียมากกว่า5000 ตัวต่อเซลล์

ร่างกายต้องทำหน้าที่สองอย่างคือ หายใจเพื่อเอาออกซิเจนเข้าไปให้ไมโตคอนเดรีย และกินอาหาร

เราเรียกกระบวนการที่ผลิตพลังงานโดยไมโตคอนเดรียนี้ว่า Oxidative Phosphorylation (กระบวนการนี้ตรงกันข้ามกับกระบวนการที่เกิดในเซลล์มะเร็ง ซึ่งได้พลังงาน ATP มาจากกระบวนการ Glycolysis ซึ่งใช้น้ำตาลภายนอกไมโตคอนเดรียผลิต ATP)

มีอิเล็กตรอนที่รั่วไหลออกมาจาก Electron Transport Chain ในไมโตคอนเดรีย และฟอร์มตัวเป็น Reactive Oxygen Species (ROS) ROS เป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียร จากการที่มันมีที่มีอิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่อยู่หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งคู่ ทำให้ประพฤติตนเป็น Free radical (อนุมูลอิสระ) ที่มีฤทธิ์ทำลายล้างสูง พวกเราคุ้นเคยกับคำว่า อนุมูลอิสระ และก็เชื่อกันมาตลอดว่ามันอันตราย และเราก็นิยมทานอาหารเสริมกลุ่ม Anti oxidant เพื่อสะเทิ้นอนุมูลอิสระให้เป็นกลาง (ซึ่ง Dr.Joseph จะอธิบายให้ฟังทีหลังว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป)

ข้อมูลชวนตกตะลึงคือ มากกว่า 90% ของอนุมูลอิสระที่เกิดในร่างกายเรา เกิดอยู่ภายในไมโตคอนเดรีย

อนุมูลอิสระไม่ได้มีบทบาทในการก่อโรคอย่างเดียว มันก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย ภายใต้ภาวะสรีระวิทยาตามปกติ อนุมูลอิสระมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายหลายอย่างเช่น
1. มันกำกับหน้าที่สำคัญของเซลล์หลายประการเช่นการสร้างเมลาโทนินและ Nitric oxide
2. ควบคุมให้กระบวนการเมตาบอลิสมเป็นไปได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เช่นควบคุมความหิว การเก็บสะสมไขมัน
3. ทำหน้าที่เป็นตัวรับสัญญาณ เพื่อตอบสนองความเครียดที่มาจากสิ่งแวดล้อมเช่น สารพิษ สารเคมี ควันบุหรี่
4. ทำหน้าที่สำคัญที่เป็นประโยชน์อันเกิดจากผลของการออกกำลังกาย เพราะเมื่อเราออกกำลังกาย ไมโตคอนเดรียสร้าง ATP มากขึ้น นั่นหมายถึงการสร้างอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้นด้วย

การที่อิเล็กตรอนที่ไร้คู่พยายามทำปฏิกิริยา oxidation กับโมเลกุลอื่น เพื่อสะเทิ้นภาวะไม่เสถียรของมัน ทำให้เกิดสนิมภายในร่างกาย (Biological Rusting) และเกิดสนิมภายในร่างกายนี้เป็นลูกโซ่ เพิ่มปริมาณอนุมูลอิสระภายในเซลล์ จนทำให้ผนังเซลล์และผนังไมโตคอนเดรียเปราะแตกหักง่าย จากปฏิกิริยา Lipid Peroxidation ที่ผิวเซลล์

นอกจากนั้นอนุมูลอิสระที่เกิดจากปฏิกิริยา Oxidative Phosphorylation ในไมโตคอนเดรียที่เกินปรกติ ยังทำลาย DNA โดยขัดขวางการแบ่งตัว รบกวนกิจกรรมภายในที่ทำนุบำรุง DNA และเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง DNA มีรายงานวิจัยว่า DNA ได้รับความเสียหายจากการถูกอนุมูลอิสระโจมตี 10,000 ถึง 100,000 ครั้งต่อวัน จึงนำไปสู่การทำลายเนื้อเยื่อเพิ่มความเสี่ยงโรค มีการศึกษาว่าอนุมูลอิสระเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโรคเรื้อรังมากกว่า 60 ชนิดเช่น Alzheimer’s, Atherosclerosis, Cancer

เชื้อเพลิงที่ใช้มีอยู่สองอย่างคือกลูโคสและไขมัน

เมื่อร่างกายใช้กลูโคสเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงาน ไมโตคอนเดรียจะผลิตอนุมูลอิสระสูงกว่าเมื่อใช้ไขมันเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงาน นั่นหมายถึงไมโตคอนเดรียเป็นที่ผลิตอนุมูลอิสระที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย

ร่างกายต้องการอนุมูลอิสระที่สมดุล เพราะมันก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้ามีมากเกินไป ก็ส่งผลต่อการทำลายผนังเซลล์ ดีเอ็นเอ จากปฏิกิริยา oxidation Dr.Mercola สรุปว่า ไมโตคอนเดรียที่สร้างอนุมูลอิสระมากผิดปรกติ เป็นต้นกำเนิดของโรคเรื้อรังต่างๆ

เมื่อเราทราบว่า 90% ของอนุมูลอิสระเกิดขึ้นภายในไมโตคอนเดรีย นั่นหมายถึง ถ้าเราสามารถจัดการสมดุลให้ไมโตคอนเดรียสร้างอนุมูลอิสระแต่พอเหมาะได้ ก็จะเป็นหนทางไปสู่ความมีสุขภาพดี
ไมโตคอนเดรียหน้าที่หลักคือการผลิตพลังงาน(ATP) และควบคุม Apoptosis (โปรแกรมภายในเซลล์ที่กำหนดให้เซลล์ตาย) กระบวนการ Autophagy, Mitophagy ซึ่งทำหน้าที่กำจัดชิ้นส่วนภายในเซลล์ที่เสียหายและนำชิ้นส่วนที่ยังดีอยู่กลับมาใช้งานใหม่ ก่อนที่มันจะส่งผลเสียหายต่อเซลล์และนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ
คำถามสำคัญจึงคือทำอย่างไรให้ไมโตคอนเดรียผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่สามารถป้องกันปัญหาการสร้างอนุมูลอิสระที่มากเกินไปจากขบวนการเมตาบอลิสมของอาหารที่เราต้องรับประทานตลอดชีวิต

เรามาดูวิธีที่จะรักษาไมโตคอนเดรียให้แข็งแรงสมบูรณ์กันดีกว่าค่ะ มีทั้งหมด 9 วิธี

วิธีที่ 1.
ปรับเปลี่ยนโภชนาการให้เป็นโภชนาการคาร์บต่ำไขมันดีสูง เป็นวิธีที่ทรงพลังอันดับ 1 ในการที่จะรักษาความแข็งแรงสมบูรณ์ของไมโตคอนเดรีย เพราะการที่ไมโตคอนเดรียใช้ไขมันเป็นเชื้อเพลิง จะสร้างอนุมูลอิสระน้อยกว่าการใช้กลูโคสเป็นเชื้อเพลิงถึง 30% ดีต่อไมโตคอนเดรียและร่างกาย

วิธีที่ 2.
การหยุดกินอาหาร (Fasting) เป็นวิธีที่ทรงพลังเป็นอันดับสอง เลือกการหยุดกินอาหารที่เหมาะกับวิถีชีวิตของเรา

วิธีที่ 3.
สัมผัสพื้นดิน (Grounding) จำกันได้ไหมคะว่าครั้งสุดท้ายที่เท้าเราเหยียบพื้นดินโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้นเลยนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตัวพี่เองยังนึกไม่ออกเลยค่ะ การมีชีวิตเป็นคนเมืองเร่งรีบตลอดเวลา แม้กระทั่งออกกำลังกายก็ยังออกกำลังกายในสถานที่ปิด ใส่รองเท้ากีฬาหรู พื้นรองเท้าทำด้วยยางคุณภาพดี ที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้า เราไม่รู้เลยว่า เราพลาดวิธีง่ายมากๆ ที่จะรักษาไมโตคอนเดรียให้แข็งแรงสมบูรณ์ไป โพสต์นี้เรามาทำความเข้าใจเบื้องต้น ของการรักษาไมโตคอนเดรียด้วยการสัมผัสพื้นดิน(Grounding) กันค่ะ (พี่สั่งหนังสือเพิ่มมาอีก 3 เล่มเดี๋ยวอ่านแล้วพี่มาเขียนเพิ่มเติมเป็นอีกโพสต์นะคะ)
การลดอนุมูลอิสระในร่างกายด้วยวิธีการเปลี่ยนโภชนาการให้เป็นโภชนาการคาร์บต่ำไขมันดีสูงนั้น ก็เป็นทางหนึ่ง มีอีกทางคือนอกจากจะลดการสร้างอนุมูลอิสระ ให้เราเพิ่มปริมาณอิเล็กตรอนแก่ร่างกาย เพื่อจะไปสะเทิ้นอนุมูลอิสระที่มีเกินนั้น และวิธีดังกล่าวก็คือการทำ Grounding
หมายถึงการปล่อยให้ร่างกายสัมผัสกับพื้นดินโดยตรง เพื่อรับประจุอิเลคตรอนจากพื้นดิน ไม่ว่าจะด้วยการเหยียบพื้นดินด้วยเท้าเปล่า หรือใส่รองเท้าที่พื้นทำด้วยหนังสัตว์ ซึ่งเหนี่ยวนำไฟฟ้า (พื้นรองเท้าที่ทำด้วยยางหรือพลาสติก เป็นฉนวนกันไฟฟ้าใช้ไม่ได้ค่ะ)
พื้นผิวโลกมีกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำและจะรักษาสมดุลย์ของไฟฟ้าเหนี่ยวนำนี้ ให้เป็นขั้วลบ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น
1. ลมสุริยะ (Solar Wind)
2. ฟ้าผ่า (Thunderstorms)
3. ขั้วแม่เหล็กที่หมุนอยู่ในแกนโลก (Molten Magnetic) ซึ่งเป็นแหล่งที่สำคัญมากในการจ่ายอิเล็กตรอนขึ้นมาที่ผิวโลก
การสัมผัสพื้นดิน (Grounding) นอกจากจะมีประโยชน์ในการเพิ่มประจุอิเลคตรอน เพื่อสะเทิ้นอนุมูลอิสระภายในร่างกายแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆอีกมากมายดังต่อไปนี้
1. ช่วยลดผลกระทบของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ Wi-Fi (แค่ประโยชน์ข้อนี้ข้อเดียว พรุ่งนี้พี่ออกไปเดินเท้าเปล่าที่สวนเด็กเล่นหมู่บ้านทันที)
2. ช่วยเร่งให้แผลหายเร็วขึ้น
3. ช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกาย
4. สนับสนุนการนอนหลับให้ดีขึ้น
5. ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย
6. ช่วยปรับปรุงการเต้นของหัวใจให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่แปรปรวน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี (potent marker) ของการมีสุขภาพดีโดยรวม
7. ช่วยทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติและระบบประสาทซิมพาเทติกสงบ จึงส่งเสริมภาวะ สมดุลของร่างกาย
วิธีทำให้ร่างกาย “Grounding”
1. สวมรองเท้าที่พื้นทำด้วยหนังสัตว์หรือเดินเท้าเปล่าบน
– พื้นทราย หญ้าที่มีความชื้น ดิน คอนกรีตและหินที่ไม่ทาสี กระเบื้องเซรามิค
– ส่วนการเหยียบพื้นแอ๊สฟาส ไม้ ยาง พลาสติก ไวนิล ไม่ทำให้ร่างกาย “Grounding” ค่ะ
– การเดินเท้าเปล่าบนชายหาดใกล้หรือในน้ำทะเล เป็นการทำ “Grounding” ที่อุดมคติที่สุด เพราะว่าน้ำทะเลคือพาหะที่เหนี่ยวนำไฟฟ้าได้ดีมาก
– รองลงมาคือทุ่งหญ้าที่ชุ่มชื้น ถ้ามีแสงอาทิตย์อาบร่างด้วยจะวิเศษมาก เพราะเป็นการต่อวงจรครบระหว่าง ดวงอาทิตย์-ร่างกาย-โลก
2. สำหรับคนเมืองอย่างพวกเราที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ ไม่เคยได้เหยียบพื้นดินมานานมากแล้ว มีตัวช่วยค่ะ เราสามารถซื้อ Grounding Mat เพื่อใช้ทำ Grounding ภายในบ้าน ได้จากเว็บไซต์ Amazon ค่ะ พรุ่งนี้พี่จะลองสั่ง แล้วจะมารีวิวค่ะ

วิธีที่ 4. การได้รับแสงแดด ในปริมาณที่เหมาะสมทุกวัน (Sensible Sun Exposure)
การพาร่างกายในสภาพที่เปิดผิวรับแสงแดดอย่างเหมาะสมทุกวัน เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ไมโตคอนเดีย ซึ่งง่าย ไม่เสียเงิน และทำได้ทุกวัน ยิ่งเป็นประเทศที่อยู่ในแถบเขตศูนย์สูตรแบบประเทศไทย ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแสงอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ยิ่งทำได้ง่าย
แสงแดดประกอบด้วยแสงที่คลื่นความยาวหลากหลาย ธรรมชาติจัดให้มีการกระจายในสัดส่วนที่เหมาะสม ในหลายหลายทาง มนุษย์ได้รับการออกแบบทางชีววิทยาที่คล้ายพืช นั่นก็คือมนุษย์สามารถสร้างสารอาหารที่ผิวหนังจากแสงแดดได้เช่นเดียวกับพืช
เราเรียกศาสตร์ที่ว่าด้วยการที่สิ่งมีชีวิต ใช้คลื่นทั้งหมดจากแสงอาทิตย์ ในการควบคุมกระบวนการทางสรีระวิทยาหลายกระบวนการว่า Photo biology ซึ่งน่าสนใจมากค่ะ
คนเมืองใช้ชีวิตทั้งวัน-คืนอยู่แต่ภายในอาคาร นั่นหมายถึงเรากำลังทำให้ร่างกายไม่ได้รับคลื่นความยาวแสงที่สำคัญจากแสงแดด ได้แก่ คลื่นแสงยูวีและคลื่นแสงอินฟราเรด ซึ่งคลื่นทั้งสองนี้ไม่มีอยู่ในแสงประดิษฐ์จากหลอดไฟภายในอาคาร นอกจากนั้นแม้แต่ตอนกลางวัน หน้าต่างของอาคารสำนักงาน(ซึ่งมักจะเคลือบสารป้องกันยูวี) ยังทำหน้าที่กรองคลื่นแสงที่สำคัญทั้งสองชนิดนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพออกไป
เหตุผลหลักที่แสงอาทิตย์ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพก็เพราะ แสงอาทิตย์เป็นแหล่งให้โฟตอน ซึ่งเป็นอนุภาคเบื้องต้นจากการแผ่สนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของแสงอาทิตย์ โฟตอนสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ น้องๆลองนึกถึงแผงโซล่าร์เซลล์ที่ติดบนหลังคาบ้าน เมื่อได้รับแสงอาทิตย์ อนุภาคโฟตอนจากแสงอาทิตย์ จะทำปฏิกิริยากับอะตอมในแผงโซล่าเซลล์ และผลักอิเล็กตรอนจำนวนหนึ่งออกจากอะตอม เหนี่ยวนำเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าขึ้น
ร่างกายก็คล้ายกับแผงโซล่าร์เซลล์ เมื่อเราอยู่นอกอาคารในสภาพที่สัมผัสพื้นดินเพื่อรับอิเล็กตรอน (Grounding) และแสงอาทิตย์อาบทั่วผิวหนังทั้งร่าง ในช่วงเวลานั้นจะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) ผลิตพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา ซึ่งจะนำไปช่วยปรับปรุงการทำงานของไมโตคอนเดรียให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปฏิกิริยาลูกโซ่นี้จะทรงพลัง เมื่อร่างกายอยู่ในสภาพสัมผัสพื้นดิน (Grounding) เพราะทำให้เกิดกระบวนการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าครบวงจรจาก ดวงอาทิตย์-ร่างกาย-พื้นโลก
ถ้าภายในเซลล์และผนังไมคอนเดรีย มีระดับของกรดไขมันโอเมก้า 3 และ ดีเอชเอในปริมาณที่เพียงพอ โดยเฉพาะดีเอชเอ ซึ่งเป็นไขมันชนิดเดียวที่สามารถรับโฟตอนจากแสงอาทิตย์และเปลี่ยนโฟตอนให้เป็นกระแสไฟฟ้าตรง (DC Electric Current)เรียกกระบวนการนี้ว่าThe photo electric Effect ไอสไตน์ได้รับรางวัลโนเบลในปีค.ศ. 1921 จากการค้นพบกระบวนการ Photo electric นี้
กระแสไฟฟ้าตรงที่เกิดขึ้นจากการที่ดีเอชเอเปลี่ยนโฟตอนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า จะช่วยจัดเรียงโครงสร้างของน้ำภายในเซลล์ให้เป็นระเบียบขึ้น นำไปสู่การแทรกเข้าสู่อวัยวะภายในเซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่ได้คือช่วยในการเติมประจุพลังงานให้ไมโตคอนเดรียนำไปใช้งาน
หน้าที่ต่อสุขภาพอื่นของแสงอัลตราไวโอเลตก็คือ การกระตุ้นการสร้างไนตริกออกไซด์ภายในผิว ไนตริกออกไซด์มีคุณสมบัติขยายหลอดเลือดและพาเลือด 60% ไปเลี้ยงผิวหนัง ซึ่งยิ่งทำให้โฟตอนถูกส่งผ่านเข้ากระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนั้นแสงอัลตราไวโอเลตบี มีอิทธิพลต่อการสร้างวิตามิน D ที่ผิวหนังอีกด้วย

วิธีที่ 5. การอบซาวน่าด้วยแสงอินฟราเรด (Infrared Sauna Therapy)
การที่ร่างกายจะได้รับประโยชน์จากการอาบแดด จะต้องใช้เวลาวันละหลายชั่วโมง เพื่อให้ผิวหนังโดนแสงแดดในขณะที่ร่างกายสัมผัสพื้นดินอยู่
ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพรุนแรง และต้องการย้อนภาวะของโรค คืนความแข็งแรงสมบูรณ์ให้ร่างกาย มันคุ้มมากที่คนเหล่านี้จะย้ายถิ่นฐานมาอยู่ใกล้กับบริเวณเส้นศูนย์สูตรเพื่อรับแสงแดด
ส่วนผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพใด ความท้าทายก็คือเราไม่สามารถที่จะใช้เวลาอย่างมีคุณภาพนอกอาคารได้ทุกวันตลอดทั้งปี ในคนกลุ่มนี้สามารถได้รับประโยชน์จากการอบซาวน่าด้วยแสงอินฟราเรดที่มีการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่ำ (Low -EMF-full-spectrum-Infrared Sauna Therapy)
แสงสีแดง (Red Light)และแสงอินฟราเรดสามารถแทรกลงลึกไปยังเนื้อเยื่อของร่างกายเพื่อให้พลังงานกับไมโตคอนเดรีย นำไปผลิต ATP นอกจากนั้นแสงอินฟราเรดยังมีหน้าที่สำคัญในการช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย การอบซาวน่าด้วยแสงอินฟราเรดสัปดาห์ละ 2 ถึง 3 ครั้ง เป็นสิ่งที่ดีมากต่อร่างกาย
ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการอบซาวน่าด้วยแสงอินฟราเรด ยังมีประโยชน์ต่อระบบเมตาบอลิสมร่างกาย เพราะช่วยกระตุ้นยีนซึ่งส่งเสริมขบวนการสร้าง Heat-Shock Protein (HSP) ภายในเซลล์ เป็นการช่วยป้องกันโปรตีนภายในเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายตามกาลเวลา จึงไม่เกิดการสะสมของ HSP ที่เสื่อมสลายภายในเซลล์
HSP ยังเกี่ยวข้องกับการมีอายุขัยที่ยืนยาว (Longevity) จากการที่ความร้อนจากการอบซาวน่าด้วยแสงอินฟราเรดช่วยเพิ่มปริมาณ HSP ภายในเซลล์ นอกจากนั้นความร้อนจากซาวน่าด้วยแสงอินฟราเรดยังช่วยสนับสนุนการสร้างไมโตคอนเดรียใหม่ภายในเซลล์อีกด้วย

วิธีที่ 6 การป้องกันแสงสีฟ้าจากแสงประดิษฐ์ (Artificial Light)
ชีวิตคนเมือง พวกเราใช้เวลาตั้งแต่ 8.00 ถึง 17.00 น.ในอาคารที่ทำงาน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ป้องกันแสงธรรมชาติเข้าถึง (ลองนึกถึงออฟฟิศพวกเราดูสิคะ) อาคารเหล่านี้จึงมีการออกแบบและติดตั้งแสงประดิษฐ์ที่จะให้แสงคล้ายกับแสงธรรมชาติ ในปัจจุบันหลอดไฟที่เป็นที่นิยมในการให้แสงภายในอาคารก็คือหลอดไฟ LED ซึ่งให้แสงสีฟ้าที่สว่างสดใสคล้ายแสงธรรมชาติ แถมยังประหยัดไฟมากกว่าหลอดไฟมีไส้ในอดีต
แต่สิ่งที่เราไม่ได้คำนึงถึง นอกเหนือไปจากการประหยัดไฟและการให้แสงสว่างที่สดใส ก็คืออันตรายที่จะเกิดกับสุขภาพ จากการที่หลอดไฟ LED ผลิตแสงที่มีคลื่นความยาวของแสงสีฟ้าในสัดส่วนที่สูงมากในขณะที่มีคลื่นความยาวแสงสีแดงต่ำ
ถึงแม้ว่าคลื่นแสงสีฟ้าจะไม่ได้มีอันตรายด้วยธรรมชาติของมันก็ตาม แต่เมื่อมันถูกนำมาใช้ในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม เมื่อเทียบกับแสงอาทิตย์ ที่มีสัดส่วนของคลื่นแสงสีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดงในลักษณะที่สมดุล เอื้อต่อการทำหน้าที่ทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต (ธรรมชาติออกแบบมาอย่างลงตัว) มันก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
แสงอาทิตย์สมดุลอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีสัดส่วนของแสงสีแดงและสีฟ้าในปริมาณที่เท่าๆกัน นอกจากนั้นยังได้รับการถ่วงสมดุลด้วยแสงอินฟราเรด ใกล้อินฟราเรด และแสงอัลตราไวโอเลต(แสงเหนือม่วง)อีกด้วย ยิ่งเป็นการส่งเสริมประโยชน์ต่อสุขภาพไมโตคอนเดรีย
สิ่งมีชีวิตถูกออกแบบมาให้รับแสงสีฟ้าในช่วงเช้าได้ดี และไม่ดีในช่วงเย็นและช่วงก่อนนอน นอกจากนั้นสิ่งมีชีวิตยังถูกออกแบบมาให้รับแสงสีฟ้าจากธรรมชาติ ไม่ใช่จากหลอด LED ดังนั้นการได้รับแสงสีฟ้าจากหลอด LED เพียงอย่างเดียวในปริมาณสูงจึงอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้
มีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการได้รับแสงสีฟ้าหลังจากพระอาทิตย์ตกสามารถรบกวนระบบนาฬิกาชีวภาพในร่างกายและลดการผลิตเมลาโทนินตามธรรมชาติมีรายงานว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ (ref 1)
นอกจากนั้นแล้วการได้รับแสงสีฟ้าแม้กระทั่งในเวลากลางวันจากหลอดไฟ LED ภายในอาคารที่เราต้องนั่งทำงาน มีผลกระทบต่อการเพิ่มอนุมูลอิสระและ Reactive Oxygen Species (ROS) ที่บริเวณจอตา ส่งผลให้จอตาเสื่อมได้ (Macular Degeneration) ซึ่งแตกต่างจากการได้รับแสงสีฟ้าจากธรรมชาติในตอนกลางวัน เพราะจะมีแสงสีแดงและแสงอินฟราเรดในแสงอาทิตย์ เป็นตัวกระตุ้นการซ่อมสร้างฟื้นฟูสภาพจอตาที่ได้รับผลกระทบจากแสงสีฟ้าธรรมชาติอยู่ด้วย
Dr.Mercola คาดว่าถ้าไม่มีการสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลเสียต่อสุขภาพจอตาจากแสงประดิษฐ์สีฟ้าโดยหลอด LED และหลอดฟลูออเรสเซนซ์แล้วละก็ น่าจะมีระบาดวิทยาของจอตาเสื่อมสภาพในอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า จากการคาดการณ์ว่าในปี 2020 นั่น 90% ของแสงประดิษฐ์มาจากหลอดไฟ LED เนื่องจากเราสนใจการประหยัดพลังงานโดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพให้ดีว่ามันคุ้มกันหรือไม่
เราสามารถใช้ค่า Color-Rendering Index (CRI) เป็นตัวช่วยในการเลือกแสงประดิษฐ์ในสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับชีวภาพของสิ่งมีชีวิต CRI เป็นค่าที่ใช้อธิบายว่าแหล่งกำเนิดแสงใด สามารถให้สีของวัตถุที่ปรากฏกับสายตามนุษย์ได้ใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์ โดยมีการให้ค่าสเกล 0 ถึง 100 แสงอาทิตย์มีค่า CRI เท่ากับ 100 ดังนั้นแสงประดิษฐ์ใดให้ค่า CRI ใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์ นั่นหมายถึงแหล่งกำเนิดแสงนั้นมีคุณภาพที่ดีต่อการทำหน้าที่ทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต
CRI 80-85 = แหล่งกำเนิดแสงที่ดี
CRI 90 ขึ้นไป = แหล่งกำเนิดแสงชั้นเลิศ
หลอดไฟชนิดมีไส้แบบเดิม ที่เมื่อใช้จะเปล่งความร้อนและแสงออกมานั้น มีค่า CRI เท่ากับ 99 ในขณะที่หลอด LED ที่เปล่งเฉพาะแสงสีฟ้าออกมาเป็นส่วนใหญ่ มีค่า CRI เท่ากับ 70 เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเราไม่นิยมใช้หลอดชนิดมีไส้ เพราะว่ามันไม่มีประหยัดไฟ จากการที่ 95% ของพลังงานถูกเปล่งออกมาเป็นความร้อน ในขณะที่ 5% เท่านั้นที่เปล่งออกมาเป็นความสว่างที่ช่วยให้เรามองเห็น เราจึงมองว่าหลอดไฟที่มีไส้เสียพลังงานที่ไม่จำเป็นมากกว่าหลอดไฟ LED
แต่ที่เราหลงลืมไปก็คือ พลังงานความร้อนที่หลอดไฟแบบมีไส้ปล่อยออกมานั้น เป็นคลื่นอินฟราเรดแบบที่มีในแสงอาทิตย์ ซึ่งให้ประโยชน์ทางชีวภาพต่อสิ่งมีชีวิตมาก
(ลองกลับไปอ่านโพสต์ตอนที่ 2 ดูนะคะว่าประโยชน์ของอินฟราเรดต่อสุขภาพคืออะไร)
ดังนั้นเราจะมีกลยุทธ์ในการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางแสงประดิษฐ์กันอย่างไร เพื่อช่วยในการรักษาไมโตคอนเดรียและสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง
1. ใช้แสงประดิษฐ์ในที่อยู่อาศัยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในตอนกลางคืน และควรเลือกหลอดไฟแบบมีไส้ชนิดหลอดใสแทนหลอดไฟ LED
2. สวมแว่นป้องกันแสงสีฟ้าเสมอ โดยเฉพาะเวลากลางคืนแม้ว่าในสถานที่นั้นจะใช้หลอดไฟแบบมีไส้ก็ตาม (พี่สวมประจำตลอดทั้งวันค่ะ ราคาซื้อจากร้าน Asiabooks เป็นแว่นสายตา อันละ 1,500 บาท)
3. ถ้าต้องการความสว่างใช้หลอดฮาโลเจนแทนหลอดไฟ LED จะดีกว่า
4. ในช่วงเวลากลางวันแสงจากหลอดไฟ LED ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพน้อยกว่าในช่วงกลางคืน ดังนั้นสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมในช่วงเวลากลางวัน ถ้าหากว่าไม่มีแสงจากธรรมชาติฉายเข้ามาในพื้นที่นั้นร่วมด้วย ก็ควรสวมแว่นป้องกันแสงสีฟ้าเช่นกัน
5. นอกจากหลอดไฟ LED แล้ว ก็ควรจะปฏิบัติตามกลยุทธ์ข้อ 1 ถึง 4 กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดที่เปล่งแสงสีฟ้าได้ เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน
6. สมาร์ทโฟน ระบบ ios version 9 ขึ้นไป หรือ ระบบแอนดรอยด์ version 6 ขึ้นไป จะมี mode night shift และ blue light filter เพื่อใช้ป้องกันแสงสีฟ้าได้ค่ะ (พี่ปุ๋มเปิดโหมดนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่มีความจำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนในการอ่าน เขียนโพสต์ต่างๆในเพจทุกวัน)
7. มี application ชื่อ Iris ที่พวกเราสามารถดาวน์โหลดมายังคอมพิวเตอร์ เพื่อกำจัดแสงสีฟ้าทั้งหมดที่เปล่งออกมาจากคอมพิวเตอร์ได้ พี่วางลิงค์ดาวน์โหลด Iris ไว้ในคอมเมนท์นะคะ

วิธีที่ 7 การออกกำลังกาย (Exercise)
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่พิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่า ช่วยปรับปรุงการทำงานของไมโตคอนเดรีย และช่วยกระตุ้นการสร้างไมโคคอนเดรียใหม่ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Mitochondria Biogenesis ซึ่งเพิ่มปริมาณ ATP ให้แก่เซลล์
การออกกำลังกาย เพิ่มการสร้างไมโตคอนเดรียใหม่โดยการกระตุ้น Peroxisome-activated receptor gamma coactivator (PGC-1 alpha) ซึ่งเป็นสารที่ทรงพลังที่สุดที่เมื่อถูกกระตุ้นแล้วจะมีการสร้างไมโตคอนเดรียใหม่ขึ้น
นอกจากนั้นการออกกำลังกายยังกระตุ้นกลไกในการส่งสัญญาณที่ทรงพลังมากชื่อ Adenosine monophosphate-activated protein kinase (AMPK) ที่พวกเรารู้จักกันว่าเป็น 1 ใน 3 ของ Nutruent Sensors ที่สำคัญของร่างกาย การกระตุ้นส่งเสริมการสร้างไมโตคอนเดรียใหม่จาก AMPK นี้ผ่านการเพิ่มกิจกรรมของ PGC-1 alpha และ AMPK ยังส่งสัญญาณกระตุ้นขบวนการMitophagy ซึ่งคือขบวนการเก็บกวาดขยะไมโตคอนเดรียที่เสื่อมสภาพภายในเซลล์ เพื่อนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ใหม่
เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะตอบสนองโดยการเพิ่มไมโตคอนเดรียให้เพียงพอต่อความต้องการพลังงานของเซลล์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากเราต้องการรักษากระบวนการทางชีวภาพในร่างกายให้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เพื่อสุขภาพที่ดีนั้น ยิ่งมีไมโตคอนเดรียที่แข็งแรงมากเท่าไหร่ ก็บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีมากเท่านั้น นอกจากนั้นการออกกำลังกายยังเพิ่มอุณหภูมิแกนของร่างกาย (Core Temperature) ที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย

วิธีที่ 8 การรักษาไมโตคอนเดรียด้วยความเย็น (Cold Thermogenesis)
การใช้ความเย็นเป็นอีกหนึ่งความเครียดต่อร่างกาย ที่กระตุ้นสิ่งมีชีวิตให้ปรับตัวไปในทางที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ความเย็นช่วยให้ร่างกายเลือกเผาผลาญไขมันเป็นแหล่งเชื้อเพลิง เพราะการทำให้ร่างกายสัมผัสกับความเย็นอย่างสม่ำเสมอ จะเพิ่มการสะสมไขมันสีน้ำตาล(Brown fat) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อไขมันพิเศษชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตความร้อนให้แก่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าไขมันสีขาว(White fat) สีน้ำตาลที่เห็นในไขมันสีน้ำตาลคือสีของไมโตคอนเดรียค่ะ
ปล. พี่ปุ๋มเคยเขียนโพสต์เรื่องชนิดของไขมันสามประเภทคือ Brown fat, White fat และ Beige fat ไว้นานมาแล้ว ยังจำกันได้ไหมเอ่ย
นอกเหนือจากการเพิ่มการสะสมไขมันสีน้ำตาลเมื่อร่างกายเผชิญกับความเย็นแล้ว สมองยังเพิ่มการผลิต นอร์อิพิเนฟริน และ โดปามีน ซึ่งฮอร์โมนสองตัวนี้เกี่ยวข้องกับการมีสมาธิแน่วแน่ ปรับปรุงอารมณ์ และลดความเจ็บปวด ลดการอักเสบ เราสามารถเพิ่ม นอร์อิพิเนฟรินเป็น 2 เท่าได้ เพียงแค่แช่น้ำที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 วินาที
คุณสมบัติของนอร์อิพิเนฟริน เป็นทั้งสารสื่อประสาท(Neurotransmitter)และฮอร์โมน ที่ทำหน้าที่อย่างหนึ่งคือ ทำให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อสงวนความร้อนร่างกายไว้ นอกจากนั้นยังออกฤทธิ์เป็นโมเลกุลที่ส่งสัญญาณให้เกิดการสร้างไมโตคอนเดรียเพิ่มขึ้นในเนื้อเยื่อไขมัน เพื่อใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตความร้อนและพลังงานให้ร่างกาย ในขณะที่ร่างกายเผชิญความเย็น
ดังนั้นการทำให้ร่างกายสัมผัสกับความเย็นอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการทำให้ร่างกายทนต่อความเย็นได้มากขึ้น อันเป็นผลจากการที่ร่างกายสร้างไมโตคอนเดรียใหม่เพิ่มขึ้นในเนื้อเยื่อไขมัน ทำให้ไขมันสีขาวกลายเป็นไขมันสีน้ำตาลเพิ่มขึ้น และในสภาวะความเย็นร่างกายจะใช้เนื้อเยื่อไขมันสีน้ำตาลเหล่านี้เป็นแหล่งพลังงานก่อน
นอกจากนั้นเมื่อร่างกายเผชิญกับความเย็นก็จะสร้างโปรตีน(Cold Shock Protein)ชื่อ RNA-binding motif 3 หรือ RBM 3 ขึ้นเพื่อปกป้องสมอง ซึ่งการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการรักษาด้วยความเย็นมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมอง นอกเหนือไปจากการเพิ่มการสร้างไมโตคอนเดรียใหม่ๆ
เราสามารถเริ่มต้นใช้ความเย็นในการรักษาความแข็งแรงของไมโตคอนเดรียอย่างง่ายๆด้วยการเติมน้ำแข็งลงในอ่างอาบน้ำวัดอุณหภูมิน้ำให้ได้อุณหภูมิ 10-13 องศาเซลเซียส ล้างเครื่องสำอางออกจากใบหน้าให้สะอาด ทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนหน้าที่จะแช่ตัวในอ่างน้ำเย็น สิ่งแรกที่ทำให้จุ่มหน้าลงไปในน้ำเย็น และจุ่มอยู่ให้นานเท่าที่ทำได้ จากนั้นก็ให้เริ่มด้วยการใช้ขันตักอาบก่อน (ในหนังสือเขียนว่าให้ใช้ฝักบัว แต่พี่นึกภาพบ้านเราน้ำจากฝักบัวไม่มีทางอุณหภูมิ 10-13 องศาได้) จนเมื่อร่างกายเคยชิน ในที่สุดก็ให้ลงไปแช่ในอ่างที่มีน้ำแข็งใส่อยู่จำนวนมาก แช่จนเมื่อไหร่ที่รู้สึกมึนศีรษะ หรือผิวหนังกลายเป็นสีซีดเผือด ก็ให้หยุดการแช่น้ำเย็นจัดนั้น จับเวลาเอาไว้ และครั้งหน้าใช้เวลาให้น้อยกว่านั้น
(ใครที่สนใจ Cold Thermogenesis มากกว่านี้ ลองเข้าไปติดตามเพจ The Iceman (Wim Hof) ดูค่ะ พี่ก็ติดตามเขาอยู่ สั่งหนังสือแกมาอ่าน 1 เล่ม แกติสท์ดี)
สิ่งที่พี่ปุ๋มต้องเตือนคือ ถึงแม้ว่าการอบซาวน่า ซาวน่าอินฟราเรด และการแช่ในน้ำเย็นจัด จะค่อนข้างปลอดภัย แต่ถ้าเรามีปัญหาสุขภาพใดๆอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง หัวใจ และอื่นๆ ก็ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากการใช้ความร้อนและเย็นจัดต่อร่างกาย เป็นการเพิ่มความเครียดให้หัวใจและระบบหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นกรุณาฟังเสียงร่างกายตัวเอง ในขณะที่อบซาวน่าอินฟราเรดหรือแช่น้ำเย็นจัด ว่าร่างกายทนได้แค่ไหน อย่าแข่งขันกัน หรือทำเกินกว่าที่ร่างกายรับได้นะคะ

วิธีที่ 9 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ส่งเสริมความแข็งแรงของไมโตคอนเดรีย (Supplements)
นอกเหนือจากโภชนาการคาร์บต่ำไขมันดีสูง จะช่วยทำให้ไมโตคอนเดรียทำงานได้อย่างเหมาะสม ลดอนุมูลอิสระและ Reactive Oxygen Species จากปฏิกิริยาสันดาปเชื้อเพลิงภายในเซลล์แล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดที่พวกเราอาจจะอยากรับประทาน เพื่อประโยชน์ยิ่งขึ้นต่อความแข็งแรงสมบูรณ์ของไมโตคอนเดรีย มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
1. เบอเบอรีน (Berberine)
เป็นสารประกอบอัลคาลอยด์สีเหลือง พบในพืชหลายชนิดเช่น ขมิ้นชัน เปลือกสมุนไพรจีนชวนหวงป้อ รากของต้นโกลเด้นซีล(Goldenseal) ออริกอนเกรฟ(Oregon grape) โกลด์เทรด(Goldthread) มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบ และส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
เพราะเหตุใดเบอเบอร์รีน จึงขึ้นมาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีประโยชน์ต่อไมโตคอนเดรียเป็นอย่างยิ่ง ก็ต้องมาทำความเข้าใจ AMPK ก่อนค่ะ
AMPK เป็นหนึ่งในสามของ Nutrient Sensors ที่สำคัญของร่างกาย (นอกจากอินซูลิน และ mTOR) AMPK ทำงานตรงกันข้ามกับ mTOR
เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอยู่ในภาวะมีระดับอินซูลิน เลปติน และ IGF-1 (ฝาแฝดอินซูลิน) สูง มันจะเพิ่ม mTOR pathway และลด AMPK pathway (ร่างกายอยู่ในโหมดเจริญพันธุ์ แบ่งเซลล์ จึงลดการซ่อมสร้างและเก็บกวาดขยะในเซลล์โดยปริยาย) ซึ่งถ้าอยู่ในโหมดนี้อย่างยาวนานไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลยค่ะ
ในทางตรงกันข้ามถ้าร่างกายอยู่ในภาวะ อินซูลิน เลปติน และ IGF-1 ในเลือดต่ำ มันจะลดกิจกรรม mTOR และกระตุ้น AMPK ซึ่ง AMPK มีบทบาทสำคัญในการควบคุมขบวนการเมตาบอลิสมของร่างกาย ผ่านการสร้างสมดุลไขมัน กลูโคส และพลังงานของร่างกาย พอๆกับการที่มันมีบทบาทในการกระตุ้นการซ่อมและฟื้นฟูเซลล์(Autophagy) เมื่อ AMPK ถูกกระตุ้น ร่างกายจะเผาผลาญไขมันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แล้วสารประกอบอัลคาลอยด์ในเบอเบอรีน เกี่ยวข้องอะไรกับ AMPK
1. กระตุ้น AMPK pathway
2. กระตุ้นการเผาผลาญไขมันสีน้ำตาล
3. ออกฤทธิ์ต้านอนุมูนอิสระและ ROS
4. กระตุ้นการพากลูโคลสออกไปจากเลือด
5. ยับยั้งการสร้างกลูโคสที่ตับ
6. ปรับปรุงความไวของอินซูลิน
7. แสดงออกถึงฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งหลายประเภท
เนื่องจากเบอเบอรีนมีค่าครึ่งชีวิตสั้น การเสริมอาหารด้วยเบอเบอรีน จึงจำเป็นต้องทานในขนาด 300 ถึง 500 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งก่อนอาหารค่ะ
2. อูบิควินอล (Ubiquinol)
คือ โคเอ็นไซม์ คิว 10 ในรูป reduced form เป็นสารสำคัญในปฏิกิริยาการสร้างพลังงาน(ATP)ในไมโตคอนเดรีย ถือเป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูนอิสระที่ละลายในไขมันเพียงไม่กี่ตัว ดังนั้นมันจึงมีหน้าที่สะเทิ้นอนุมูลอิสระที่ผนังไมโตคอนเดรีย(ซึ่งเป็นไขมัน) ดังนั้นการรับประทานอูบิควินอล จึงปกป้องผนังไมโตคอนเดรียจากภาวะที่ถูกอนุมูลอิสระโจมตี (oxidative damage)
ขนาดรับประทานอูบิควินอล โดยทั่วไปเริ่มที่ 200 ถึง 300 มิลลิกรัมต่อวัน ในผู้ที่ป่วยหนักสามารถเพิ่มขนาดได้เป็น 600 มิลลิกรัมต่อวันได้ รับประทานไปเป็นระยะเวลาสามสัปดาห์จนระดับอูบิควินอลในเลือดถึงระดับที่เป็นประโยชน์สูงสุด (Optimal Level) หลังจากนั้นให้รับประทานเพื่อ maintenance ไว้ที่ 100 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอแล้วในคนที่สุขภาพแข็งแรง แต่ถ้าหากว่าเรามีวิถีชีวิต ที่มีกิจกรรมประจำวันมาก เช่นออกกำลังกายหนัก มีความเครียดจากงานหรือชีวิต ก็อาจจะเพิ่มขนาด maintenance ไปเป็น 200 ถึง 300 มิลลิกรัมต่อวัน
3. แมกนีเซียม (Magnesium)
แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทุกอวัยวะในร่างกายต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวใจ กล้ามเนื้อ และไต พบว่า 80% ของคนอเมริกันรับประทานแมกนีเซียมไม่เพียงพอ
RDA (Recommended Daily Allowance) สำหรับแมกนีเซียมคือ 310 ถึง 400 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับอายุและเพศ ในอดีตเราได้แมกนีเซียมจากอาหารประมาณวันละ 500 มิลลิกรัม เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ปัจจุบันนี้พบว่าเราได้แมกนีเซียมจากอาหารเหลือแค่ 150 ถึง 300 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเสริมอาหารด้วยแมกนีเซียม
แมกนีเซียมช่วยเหลือในขบวนการสร้าง ATP จึงมีความสำคัญต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของไมโตคอนเดรียเป็นอย่างยิ่ง
สัญญาณเบื้องต้นของการขาดแมกนีเซียมได้แก่ปวดศีรษะ ไม่เจริญอาหาร คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนล้า แมกนีเซียมที่ Dr.Mercola แนะนำคือ Magnesium threonate เพราะว่าดูดซึมเข้าไปในผนังไมโตคอนเดรียได้ดี (หาตามร้านยาไม่มีรูปฟอร์มนี้ค่ะ ต้องสั่งจาก amazon หรือ iherb)
4. แอล คาร์นิทีน (L-Carnitine)
สร้างมาจากกรดอะมิโน จึงพบในเนื้อแดงไข่ แอลคาร์นิทีนสามารถพาไขมันสายยาว(Long Chain Fatty Acids) ข้ามผ่านผนังไมโตคอนเดรียได้ จึงสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในไมโตคอนเดรียได้ดี ดังนั้นเมื่อเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาเผาผลาญไขมันเป็นพลังงาน เราจะใช้คาร์นิทีนที่ร่างกายสร้างได้เอง มากกว่าการเผาผลาญกลูโคส จึงอาจมีภาวะขาดแคลนคาร์นิทีนชั่วขณะได้ จนกว่าร่างกายจะจัดการรักษาระดับคาร์นิทีนให้เหมาะกับสภาวะเมตาบอลิสมขณะนั้น
จึงเป็นการดีที่เราจะวัดระดับคาร์นิทีน เพื่อดูว่าเรามีมันเพียงพอต่อการสันดาปไขมันหรือไม่ โดยเฉพาะการสันดาปกรดไขมันสายยาว ขนาดแนะนำสำหรับการเสริมคาร์นิทีนคือ 500 ถึง 1500 มิลลิกรัมต่อวัน ไปสักระยะหนึ่งเพราะร่างกายสร้างคาร์นิทีนเองได้
5. น้ำจัดเรียงโครงสร้าง (Structured Water)
แหล่งน้ำสะอาดเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีสุขภาพดีของมนุษย์และถึงแม้เราจะมีน้ำอยู่เป็นปริมาณสามในสี่ของโลกก็ตาม แต่น้ำก็ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงสร้างน้ำน้อยมาก
Dr.Gerald Pollack นักชีวฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลก ในการวิเคราะห์ว่าน้ำมีบทบาทต่อชีวะวิทยาของสิ่งมีชีวิตอย่างไร เขาเขียนหนังสือชื่อ The Fourth Phase of Water อธิบายว่าน้ำสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปอยู่ในระยะที่สี่ ซึ่งเรียกน้ำในระยะนี้ว่า EZ (Exclusion Zone) EZ มีโครงสร้างทางเคมีเป็น H3O แตกต่างจากน้ำทั่วไป ซึ่งเป็น H2O (พี่ก็สั่งหนังสือเล่มนี้ของแกมาดองไว้เรียบร้อย อยากมีเวลาอ่านหนังสือดีๆทุกเล่ม ทุกวัน)
วิธีที่ทำให้ร่างกายสามารถเปลี่ยนน้ำ H2O ระหว่างเซลล์ ให้กลายเป็น Structured Water ที่เรียกว่า EZ หรือ H3O ได้มากขึ้นนั้นคือ พาร่างกายไปอาบแดดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากแสงแดดประกอบด้วยอินฟราเรด 40% (โดยเฉพาะแสงเหนืออินฟราเรด) ซึ่งจะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงน้ำ H2O ให้กลายเป็น Structured Water H3O มากขึ้น
นอกจากนั้นก็ยังมีอีกวิธีคือ อบร่างกายในตู้อบอินฟราเรดซาวน่าชนิด low EMF จะช่วยเพิ่ม Structured Water (H3O) ระหว่างเซลล์ และยังช่วยขจัดสารพิษที่เก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน ให้ถูกปล่อยออกมาและขับออกนอกร่างกาย
สรุปวิธีที่จะทำให้เกิด H3O
1. ดื่มน้ำแร่ธรรมชาติ
2. อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส (พี่ม่ายไหว)
3. ใช้เครื่องทำน้ำวน (Vortex Machine) เพื่อผลิต Structured Water
4. รับประทานหรือดื่มน้ำผักสด เพราะน้ำในผักเต็มไปด้วย H3O เมื่อทานสดๆเท่านั้น

