ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) อยู่ในช่วงไหนดี ถึงจะเป็นหลักประกันว่า พวกเราจะมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรคร้ายสารพัด ที่คร่าชีวิตเราผ่อนส่ง
หยิบเครื่องคิดเลข สายวัดออกมาเตรียมตัวไว้นะคะ พี่พบรายงานวิจัยที่เจ๋งมาก เป็นงานวิจัยที่วิเคราะห์ข้อมูล BMI กับความสัมพันธ์กับโรคร้ายแรง ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ความอ้วนที่ระดับค่าดัชนีมวลกายเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ ถึงจะทำให้พวกเรามีความเสี่ยงต่ำที่สุดต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนจากความอ้วน
ในปี 2558 ที่ผ่านมา ประมาณการว่าทั่วโลกมีประชากรผู้ชาย 18% และผู้หญิง 21% ที่มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในระดับ อ้วน และทำให้แต่ละประเทศต้องใช้จ่ายทางสาธารณสุขเพื่อจัดการกับความอ้วนและโรคแทรกซ้อนที่ตามมาคิดเป็นเงินราวๆ 2 ล้าน ล้าน ล้าน เหรียญสหรัฐ หรือ 2.8% ของ GDP ทั้งโลก
วิธีการวัดความอ้วนในผู้ใหญ่โตเต็มวัย
องค์การอนามัยโลก ยังคงยึดถือค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) เป็นตัววัดมาตรฐานที่ระบุภาวะอ้วนในกลุ่มประชากร แต่ในระยะหลังก็เริ่มมีการตั้งคำถามต่อความแม่นยำถูกต้องของค่าดัชนีมวลกาย และเริ่มให้ความสนใจต่อวิธีวัดแบบอื่น ซึ่งใช้ประเมินความเสี่ยงจากความอ้วนได้ดีกว่าค่าดัชนีมวลกาย ได้แก่ การวัดเส้นรอบเอว (Waist Circumference) และ อัตราส่วนรอบเอวต่อสะโพก (Waist-to Hip Ratio)
ในปี 2560 หน่วยงานชื่อ The Global BMI Mortality Collaboration ได้มีการตีพิมพ์รายงานผลการสำรวจข้อมูลค่าดัชนีมวลกาย ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสำรวจประชากรทั้งหมด 10.6 ล้านคน จากงานวิจัยทั้งหมด 236 ฉบับ เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่าดัชนีมวลกายกับการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

เน้นอ่านตรงนี้เลยค่ะทุกคน
ผลลัพธ์พบว่า การเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนที่สัมพันธ์กับความอ้วน จะต่ำที่สุดเมื่อค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 20-25
และดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่า (ผอมเกินไปก็ใช่จะรอด) หรือเกินกว่าค่าระหว่างนี้ จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ล้องห้าย)
กลไกของความอ้วนที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน
มีหลายกลไก แต่ในรายงานนี้ขอพูดถึง 2 กลไกหลัก
1. ปฏิกิริยาอักเสบที่ระดับเนื้อเยื่อ (Inflammation) ความอ้วนเกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบต่ำๆอย่างเรื้อรัง ที่อวัยวะสำคัญได้แก่ ตับ สมอง ตับอ่อน เนื้อเยื่อไขมัน (เรื่องนี้พี่ปุ๋มจะขยายความเป็นอีกโพสต์หนึ่งเลย)
2. ระบบนิเวศน์ของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกันมากว่ามันมีความเกี่ยวพันกับการพัฒนาโรคแทรกซ้อนจากความอ้วน (มีหนังสือดีที่พี่ปุ๋มซื้อมาเก็บไว้ในกรุ 2 เล่มค่ะ รอคิวนะ) นักวิทยาศาสตร์พบว่า การเปลี่ยนแปลงนิเวศน์ของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญ ผ่านเส้นทางการส่งสัญญาณ (Signaling Pathway) ไปทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลให้เกิดขบวนการอักเสบ การสะสมไขมัน และ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ความอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง (รูปที่ 2)

1. เบาหวาน
2. โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
– เส้นโลหิตในสมองแตก (Stroke)
– ความดันโลหิตสูง
– ระดับไขมันผิดปรกติ
– โรคหลอดเลือดหัวใจ
– ภาวะหัวใจล้มเหลว
– โรคทางระบบประสาทอื่น เช่น Dementia
3. มะเร็ง
4. โรคระบบทางเดินหายใจ
– โรคหยุดหายใจขณะหลับจากมีการขัดขวางทางเดินหายใจ
– หอบหืด
5. โรคระบบภูมิคุ้มกัน
6. โรคระบบทางเดินอาหาร
– ไขมันพอกตับ
– นิ่วในถุงน้ำดี
– ตับอ่อนอักเสบ
– กรดไหลย้อน
7. โรคไต
– ไตวายระยะสุดท้าย
– นิ่วในกรวยไต
8. โรคเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์
– ลดจำนวนสเปิร์ม
– อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
– ถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovarian Syndrome)
9. โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ
– ข้ออักเสบ
– เก๊าท์
10. โรคทางจิตประสาท
– โรคซึมเศร้า
– ก้าวร้าว
– ใช้ความรุนแรงทางเพศ
– ใช้สารเสพติด
เมื่อทราบถึงอันตรายต่อสุขภาพซะขนาดนี้ (พี่พิมพ์ยังเมื่อยมือว่า ทำไมโรคแทรกซ้อนจากความอ้วนมันถึงมากมายได้ขนาดนี้) มาใช้โภชนาการคาร์บต่ำ ไขมันดีสูง จัดการให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 20-25 (ขอ 22-23 กำลังสวย) รอบเอวต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของความสูง รอบเอวหารรอบสะโพกไม่เกิน 0.85 (ญ) 0.9 (ชาย) กันเถอะนะ
