แหล่งข้อมูล :
https://drjockers.com/nrf2-benefits/
https://siimland.com/how-to-increase-nrf2-naturally/
Nrf2 คืออะไร? และมีผลอย่างไรต่อการส่งเสริมระบบต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย? บทความนี้มีคำตอบค่ะ
ภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (oxidative stress)
คือการที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ภายในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิต เช่น รวมตัวกับสารพันธุกรรม คือ ดีเอ็นเอ ทำให้โมเลกุลของดีเอ็นเอเปลี่ยนแปลงไป หรือการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของลิพิดที่เป็นองค์ประกอบในเมมเบรนของเซลล์ ได้เป็นสารเพอร์ออกไซด์ ทำให้เซลล์เมมเบรนเสียสภาพ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนปกติ
ภาวะนี้มีบทบาทสำคัญในการเกิดก่อโรค เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ เร่งกระบวนการแก่ชรา และทำให้ระบบประสาทเสื่อมถอย (รูปที่ 1)

อาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องร่างกายจากภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชันในระดับที่ไม่ต้องการ
งานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ พบวิถีส่งสัญญาณใหม่ (new signaling pathway) ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขยายประสิทธิผลของการต้านอนุมูลอิสระที่มีต่อร่างกาย
บทความนี้ เราจะได้ค้นพบ 6 วิธี และ 5 สารสำคัญ ที่สามารถกระตุ้นวิถีส่งสัญญาณที่ชื่อ Nrf2 gene pathway
วิถี Keap1-Nrf2 ที่มีต่อสุขภาพ
ร่างกายจะพยายามปรับตัว เพื่อให้อยู่ในสภาวะที่สมดุลเสมอ (State of homeostasis) เมื่อร่างกายเผชิญกับความเครียด เซลล์ต้องควบคุมให้ระบบต้านอนุมูลอิสระ มีประสิทธิภาพที่จะต่อสู้กับภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชันให้ได้เร็วที่สุด
การที่จะทำเช่นนี้ได้ ร่างกายต้องสามารถที่จะกระตุ้นระบบต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้ภายในนาโนวินาที (1/10 ยกกำลัง 9) ผ่านวิถีส่งสัญญาณทางพันธุกรรมที่สำคัญมากชื่อ Keap1-Nrf2
Nrf2 (Nuclear factor erythroid 2-related factor 2)
คือ transcription factor ซึ่งก็คือโปรตีนที่สำคัญมาก ทำหน้าที่ถอดรหัสพันธุกรรมที่ตำแหน่งเฉพาะบน DNA ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ระบบทำลายสารพิษที่สำคัญภายในร่างกาย
วิถี Keap1-Nrf2 นี้ จะถูกกระตุ้นภายใต้สภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน เพื่อส่งเสริมยีนมากกว่า 600 ยีน ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญ และส่งเสริมตับให้สร้างเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายสารพิษ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล [1][2][3]
เอนไซม์ที่ชื่อ Keap1 และ Nrf2 อยู่ในของเหลวภายในเซลล์ (Cytosol) เมื่อมีความเครียดซึ่งเกิดจากออกซิเดชัน Keap1 จะทำปฏิกิริยาและกระตุ้น Nrf2
Keap1 อุดมไปด้วยกรดอะมิโนชื่อซิสเตอีน และทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจจับว่า มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชันมากน้อยแค่ไหน
เมื่อไรก็ตาม ที่มีภาวะเครียดจากออกซิเดชันเพิ่มขึ้น Keap1 จะกระตุ้น Nrf2 และพากันเคลื่อนย้ายจาก cytosol เข้าไปสู่นิวเคลียสของเซลล์ เพื่อจับกับดีเอ็นเอตรงตำแหน่งที่เรียกว่า Antioxidant Response Element (ARE) ซึ่งการเปิดยีนตรงตำแหน่งนี้ จะควบคุมการสร้างเอนไซม์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังหลากหลาย และสร้างโปรตีนหลายชนิดที่ทำหน้าที่ทำลายสารพิษ [4][5][6]
สารต้านอนุมูลอิสระและโปรตีนที่ทำลายสารพิษที่สำคัญ เช่น กลูต้าไธโอน ซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส นอกจากนั้นวิถี Keap1-Nrf2 นี้ ยังส่งเสริมการสร้างสารต้านการอักเสบกลุ่มพรอสต้าแกลนดินและเอนไซม์ ซึ่งช่วยซ่อมแซมและสมานเนื้อเยื่อ [7][8] (รูปที่ 2)

Nrf2 กับการป้องกันมะเร็ง
ภาวะเครียดจากออกซิเดชันในระดับสูงเรื้อรัง สามารถทำลายเซลล์ที่ปกติ โดยส่งผลกระทบต่อดีเอ็นเอและเหนี่ยวนำให้เซลล์ธรรมดากลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนั้นภาวะเครียดจากออกซิเดชัน ยังสามารถกระตุ้นวิถีชีวเคมีที่ก่อการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการพัฒนาเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยที่พบว่าวิถี Keap1-Nrf2 สามารถที่จะออกฤทธิ์ปกป้องเซลล์ธรรมดาไม่ให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ [9][10]
อย่างไรก็ดี วิถี Keap1-Nrf2 ก็มีด้านมืดคือ ถ้าหากมีการกลายพันธุ์ของวิถีนี้ จะทำให้ร่างกายเกิดการต่อต้านเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง และปกป้องเซลล์มะเร็งจากการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็ว [11][12]
Nrf2 ต่อสุขภาพสมอง
มีระบาดวิทยาของภาวะเซลล์ประสาทเสื่อมถอยในโลกตะวันตก มีงานวิจัยพบว่าวิถี Keap1-Nrf2-ARE มีบทบาทสำคัญในการป้องกันภาวะเซลล์ประสาทเสื่อมถอย [11][12][13]
มากไปกว่านั้น พบว่าความผิดปกติของสภาวะอารมณ์ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ไบโพล่าร์ การเสพติด มีความเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง มีงานวิจัยที่พบว่าวิถี Nrf2 ที่บกพร่อง มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความผิดปกติของสภาวะอารมณ์เหล่านี้ และความผิดปกติของการส่งสัญญาณประสาท [14][15][16]
Nrf2 กับ การป้องกันเบาหวาน
เบาหวานประเภทที่ 2 เกิดจากภาวะอักเสบเรื้อรังและความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน ภาวะเบาหวานยังคงเป็นสาเหตุหลักทั่วโลกของโรคไตวายเรื้อรัง โรคปลายประสาทเสื่อม และ โรคหลอดเลือดหัวใจ
มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า วิถี Nrf2 ทำงานลดลงในคนไข้เบาหวานประเภทที่ 2 และเกี่ยวพันกับภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะนำไปสู่การมีการทำปฏิกิริยาไกลเคชั่น ระหว่างโปรตีน (เซลล์) กับ น้ำตาล ที่มากขึ้น (Advanced Glycolytic End Products) ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อได้ [17][18]
มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเสถียรภาพของวิถี Keap1-Nrf2 มีความสำคัญยิ่งต่อการป้องกันการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 [19][20] การกระตุ้นวิถี Keap1-Nrf2 อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องร่างกายจากความเครียดที่เกิดจากกระบวนการเมตาบอลิสมที่ผิดปรกติจากภาวะเบาหวานได้อีกด้วย [21] นอกจากนั้นวิถี Keap1-Nrf2 ที่มีประสิทธิภาพ ยังช่วยสร้างเสถียรภาพต่อระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยแก้ไขความเสียหายของเนื้อเยื่อที่เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังได้อีกด้วย [22][23]
Nrf2 กับ ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
วิถี Keap1-Nrf2 มีบทบาทสำคัญในการประสานงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีรายงานวิจัยที่สังเกตพบว่า หนูที่มีความผิดปกติของวิถี Keap1-Nrf2 มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวกับภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น Lupus, Multiple Sclerosis, Hemolytic anemia, Rheumatoid arthritis เป็นต้น [24][25][26][27][28]
นักวิจัยเชื่อว่าความบกพร่องของวิถี Keap1-Nrf2 ลดการสร้างกลูต้าไธโอน อันนำไปสู่การทำงานที่ไม่สอดประสานกันของระบบภูมิคุ้มกัน และมีการกระตุ้นกระบวนการอักเสบที่มากเกิน
Nrf2 กับสุขภาพฮอร์โมน
ความชรา ความเครียดที่เกิดทางกายภาพ จากสารพิษ และทางอารมณ์ มีความเกี่ยวข้องกับการสูญเสียฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในผู้หญิง และเทสทอสเทอโรนในผู้ชาย เมื่อฮอร์โมนสำคัญเหล่านี้ขาดหายไป ส่งผลให้เกิดสภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่น ภาวะนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อม (Degenerative Diseases) [29][30][31] (รูปที่ 3)

วิถี Keap1-Nrf2 ควบคุมการเปิดยีนที่ใช้ในการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น กลูต้าไธโอนเปอริออกซิเดส และ NAD(P)H-quinone oxidireductase1 ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ช่วยในการขจัดอนุพันธ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นพิษจากการแปรสภาพโดยตับออกไป [32][33]
ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อมะเร็งหลายประเภท เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ เป็นต้น [34][35]
จบตอนที่ 1 ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจวิถี Nrf2 และบทบาทของมันต่อการมีสุขภาพดี
ในตอนจบ พี่จะสรุป 6 วิธี และ 5 สารสำคัญที่จะกระตุ้นวิถี Nrf2 เพื่อส่งเสริมระบบต้านอนุมูลอิสระสำคัญในร่างกาย น่าสนใจมากค่ะ รออ่านกันต่อนะคะ
ขอความมีสุขภาพกายใจที่ดี จงสถิตอยู่กับทุกคน