มาแล้ว พี่ปุ๋มพิมพ์ช้ามาก ขอโทษที่ทำให้รอกันนะ ยาวมาก แต่คุ้มค่ากับการรอแน่นอนค่ะ (เป็นเพราะความหล่อของ น.พ.อซีม จึงเป็นพลังให้พี่เขียนโพสต์นี้สำเร็จ)
สรุปหนังสือ Pioppi Diet : A 21 Day Lifestyle Plan โดย น.พ.อซีม มาลโฮตรา และ โดนัล โอนีล (ตอนที่ 1)
ไขมันอิ่มตัวไม่ได้ทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตัน
เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ที่เราได้รับข้อมูลจากสื่อต่างๆ ว่า ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ เนย ไข่ และ ชีส ทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย ความเข้าใจนี้เริ่มต้นมาจากการศึกษาสำคัญชื่อ Seven Countries Study โดย Dr.Ancel Keys ในปี ค.ศ.1958 ซึ่งแสดงถึง “ความสัมพันธ์” (Correlation) ระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล กับ โรคหัวใจ (ในงานวิจัย “ความสัมพันธ์” (Correlation) มีความหมายแตกต่างมากกับคำว่า “เป็นต้นเหตุ” (Causative) – พี่ปุ๋ม)
ในการสำรวจนี้ ทำใน 22 ประเทศ แต่ Dr.Keys เลือกข้อมูลเฉพาะ 7 ประเทศที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล กับโรคหัวใจ มาตีพิมพ์ (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แพทย์และนักวิจัยเกิดข้อสงสัยในความน่าเชื่อถือของการศึกษานี้ เพราะถ้านำเอาข้อมูลทั้ง 22 ประเทศมาพล็อตกราฟความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล กับโรคหัวใจ ก็ไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ เพราะก็มีบางประเทศที่ทานไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูงลิ่ว แต่มีอัตราการเกิดโรคหัวใจต่ำ และก็มีบางประเทศที่บริโภคไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลต่ำ แต่กลับมีอัตราการเป็นโรคหัวใจสูง-พี่ปุ๋ม)
ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้าน สงสัยในการแปลผลการศึกษานี้มากมาย แต่การศึกษานี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ Lipid-Heart Hypothesis มาจนถึงทุกวันนี้ และนำไปสู่การที่หน่วยงานสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงคำแนะนำในการรับประทานอาหาร ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1977 และ 1983 ตามลำดับ โดยให้ลดการบริโภคไขมันทั้งหมดต่อวันให้เหลือน้อยกว่า 30% ของการกระจายพลังงาน และให้เจาะจงไปกว่านั้นคือ ให้บริโภคไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 10% ของการกระจายพลังงาน ซึ่ง น.พ.อซีม และบุคคลากรทางการแพทย์อีกมาก โต้เถียงประเด็นนี้ว่า เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการระบาดของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และโรคอ้วน อันเกิดมาจากการรับประทานน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านขบวนการ และน้ำมันพืชผ่านขบวนการเพิ่มขึ้น
รายงานการวิจัยโดย Credit Suisse ซึ่งมีคุณภาพมาก ในปี 2015 ได้เปิดเผยว่า 90% ของแคลอรี่ที่เพิ่มขึ้นในอาหารของคนอเมริกันระหว่างปี 1961-2011 มาจากแป้งผ่านขบวนการและน้ำมันพืชผ่านขบวนการ
ผลของการประชาสัมพันธ์เรื่องไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ มาตลอดระยะเวลา 50 ปี ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารผลิตอาหารกลุ่ม “ไขมันต่ำ” ออกมาเต็มชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต ธรรมชาติของไขมันจะให้รสชาติและเนื้อสัมผัสอาหารที่ดี เมื่อเอาไขมันออก รสชาติอาหารจะเหมือนเคี้ยวกระดาษทำกล่อง อุตสาหกรรมอาหารจึงจำเป็นต้องใส่วัตถุดิบอื่น ที่ราคาถูกเพื่อผลในการผลิตเชิงปริมาณ และต้องทำให้รสชาติอาหารอร่อย ซึ่งนั่นก็คือ น้ำตาล
ต่อไปนี้คือส่วนสำคัญของโพสต์นี้ค่ะ คือการศึกษาที่ น.พ.อซีม นำมาเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้ ว่าทำไม ไขมันอิ่มตัวจึงไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพี่จะลิงค์ Reference ไว้ที่ท้ายโพสต์ เพื่อการศึกษาในรายละเอียด สำหรับผู้สนใจ
1.ทีมนักวิจัยแคนาดา เพิ่งเปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มาก เพื่อค้นหาว่ามีความเกี่ยวพัน (Association) อย่างแท้จริง ระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัว กับ โรคหัวใจหรือไม่ (“ความเกี่ยวพัน” Association มีความหมายแตกต่างจาก “ความสัมพันธ์” Correlation ในการศึกษาของ Dr.Ancel Keys โดย ความเกี่ยวพัน ให้ความหมายว่า สิ่งนั้นมีความเป็นต้นเหตุให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งมากกว่า คำว่า ความสัมพันธ์ – พี่ปุ๋ม) ทีมนักวิจัยเข้าไปวิเคราะห์การศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึงหมายถึงการเข้าไปดูข้อมูลของคนสุขภาพดีจำนวน 300,000 คน และติดตามผลตลอดระยะเวลา 25 ปี ผลของรายงานออกมาว่า ไม่มีความเกี่ยวพัน (Association) ระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัว กับสาเหตุการตายใดๆ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจวาย ตายจากโรคหัวใจประเภทอื่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Ref. 1 ท้ายโพสต์)
2. ทีมนักวิจัยจาก Cambridge University Medical Research Council ได้รับทุนจาก British Heart Foundation ให้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างกว้างขวางและเข้มข้นจากการศึกษาชนิด Observational Studies จำนวน 32 การศึกษา และ การศึกษาประเภท Randomized Controlled Trials(RCT) จำนวน 27 การศึกษา (การศึกษาแบบ RCT ถือเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ – พี่ปุ๋ม) เพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ตีพิมพ์ว่า ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัว กับ โรคหัวใจ นอกจากนั้น การวิเคราะห์นี้ยังพบว่า การบริโภคอาหารกลุ่มนม (diary foods) ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวชื่อ magaric acid มีความเกี่ยวพันกับการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ (Ref 2. ท้ายโพสต์)
3. การศึกษาเพื่อตอกฝาโลงว่าไม่มีความเกี่ยวพันระหว่างการบริโภคไขมันอิ่มตัว กับ โรคหัวใจ คือ การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Open Heart (British Medical Journal – BMJ) โดย Harcombe et al. การศึกษานี้เป็นชิ้นแรกใน series ของ Dr.Harcombe และคณะ ที่ได้เข้าไปตรวจสอบการศึกษาชนิด Randomized Controlled Trials ที่คณะกรรมการผู้มีหน้าที่พิจารณาเปลี่ยนแปลง Dietary Guideline ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1977 และอังกฤษในปี 1983 ใช้เป็นหลักฐานให้ลดการบริโภคไขมันเหลือ 30% ของการกระจายพลังงาน และ ไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 10% ของการกระจายพลังงาน โดย Dr.Harcombe และคณะ ใช้การวิเคราะห์เชิงระบบอย่างลึกซึ้ง เป็น evidence based approach แบบ meta-analysis เพื่อแสดงให้เห็นว่า การศึกษาแบบ Randomized Controlled Trial 6 ฉบับ ไม่ได้มีข้อมูลสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง Dietary Guideline ข้างต้นเลย การวิเคราะห์ยังพบข้อมูลน่าตกใจอีกว่า มีการแทรกแซงลดปริมาณการบริโภคคอเลสเตอรอลลงในกลุ่ม Control แม้กระนั้น ก็ยังไม่พบความแตกต่างในการตายจากโรคหัวใจ และสาเหตุอื่น ระหว่างกลุ่ม Control กับกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันอิ่มตัว (Ref. 3)
4. การศึกษานี้วัดความก้าวหน้าของการอุดตันภายในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยอาหารประเภทไขมันอิ่มตัว เปรียบเทียบกับ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต หรือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน การศึกษานี้ทำในกลุ่มหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน ซึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ ใช้วิธีที่เรียกว่า Coronary Angiogram ในการวัดความก้าวหน้าของการอุดตันภายในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจะเห็นเป็นภาพชัดเจนมาก ในการศึกษานี้ผู้ทำการวิจัยพบว่า การรับประทานไขมันอิ่มตัวมีความเกี่ยวพัน (Association) ทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจช้ากว่าการรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต หรือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ศึกษา (Ref. 4)
พี่พิมพ์ภาษาไทยช้ามากค่ะ 5555 แต่แปลไป พิมพ์ไป ก็ตื่นเต้นไป ตอกฝาโลงทุกการศึกษาค่ะ ว่าไขมันอิ่มตัว ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
Ref. 1 : de Souza, R.J., et al., Intake of Saturated and Trans Unsaturated Fatty Acids and Risk of All-cause Mortality, Cardiovascular Disease, and Type-2 Diabetes: Systematic Review and Meta-analysis of Observational Studies”, British Medical Journal(2015), 351: h3978
Ref. 2 : Chowdhury, R., et al., “Association of Dietary, Circulating, and Supplement Fatty Acids with Coronary Risk: A Sysytematic Review and Meta-analysis”, Annals of Internal Medicine (2014), 160(6): 398-406; doi: 10.7326/M13-1788
Ref. 3 : Harcombe, Z., et al., “Evidence from Randomised Controlled Trials Did Not Support the Introduction of Dietary Fat Guidelines in 1977 and 1983: A Systematic Review and meta-Analysis”, Open Heart (2015), 2(1); doi: 10.1136/openhrt-2014-000196.
Ref. 4 : Mozaffarian, D., Rimm, E.B. & Herrington, D.M., “Dietary Fats, Carbohydrate, and Progression of Coronary Atherosclerosis in Postmenopausal Women”, American Journal of Clinical Nutrition (2004), 80:1175-84
รอตอน 2 ด้วยครับ