Fat For Fuel : A Revolutionary Diet to Combat Cancer, Boost Brain Power, and Increase Your Energy (ตอนที่ 3)


เขียนโดย Dr. Joseph Mercola

มาล้าว ตอนที่ 3 พี่ปั่นโพสต์สุดชีวิต

 


พี่อ่าน Fat For Fuel บทที่ 3 จบเรียบร้อย หัวข้อที่น่าสนใจมากในบทที่ 3 คือ

› ความย้อนแย้งของโปรตีน (Protein Paradox) โปรตีนที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อไมโตคอนเดรียหรือไม่ อย่างไร

› แล้วต้องทานโปรตีนขนาดไหนจึงจะเหมาะสมต่อการมีสุขภาพดีของไมโตคอนเดรีย

› ช่วงอายุ และกิจกรรม มีความสำคัญต่อปริมาณโปรตีนที่ควรทานในแต่ละวันไหม

› mTOR คืออะไร ทำไมมันจึงสำคัญมาก ต่อการมีสุขภาพดีของไมโตคอนเดรีย เรื่อง mTOR นี่ พี่ปุ๋มจะต้องเขียนถึงอีกรอบหนึ่งแบบยาวๆเลย เพราะมันเป็น Nutrient sensor ที่สำคัญมากๆในร่างกาย

 

เมื่อตอนที่สองพี่ปุ๋มสรุปหลักการของ Mitochondrial Metabolic Therapy(MMT) โดยใช้โภชนาการคาร์บต่ำ โปรตีนแค่เพียงพอต่อความต้องการ และไขมันดีสูง ในการรักษาสุขภาพของไมโตคอนเดรีย ว่า มันมีประโยชน์คือ

1. ลดการสร้าง Reactive Oxygen Species (ROS) ซึ่งก็คืออนุมูลอิสระในไมโตคอนเดรียลง 30 ถึง 40% แค่นี้ก็ลดความเสียหายต่อ DNA, ไมโตคอนเดรีย ผนังเซลล์ลงไปมหาศาลแล้ว

2. ยับยั้ง mTOR signaling pathway จึงกระตุ้นทั้ง Cellular Autophagy และ Mitophagy (Autophagy ที่เกิดภายในไมโตคอนเดรีย) ซึ่งในตอนที่สามนี้เราจะพูดถึงความสำคัญและหน้าที่ของ mTOR กันค่ะ

3. สร้างไมโตคอนเดรียใหม่ Mitochondrial Biogenesis) เพราะไม่ต้องเอาพลังงานไปเสียกับการกำจัด ROS

 

ก่อนที่พี่จะสรุปตอนที่สาม ซึ่งว่าด้วยเรื่อง

› ความย้อนแย้งของโปรตีน (Protein Paradox) โปรตีนที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อไมโตคอนเดรียหรือไม่ อย่างไร

› mTOR คืออะไร ทำไมมันจึงสำคัญมาก ต่อการมีสุขภาพดีของไมโตคอนเดรีย

 

พี่ขอพูดถึงอิทธิพลในทางบวกของ Ketones กันก่อนค่ะ

เมื่อร่างกายขาดกลูโคสเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน เนื้อเยื่อไขมันจะเริ่มเปิดประตูเซลล์ ปล่อยกรดไขมันส่งมาที่ตับ เพื่อให้ตับเปลี่ยนเป็น Ketone bodies สามตัวคือ Acetoacetate, Acetone และ Beta Hydroxy Butyrate (BHB) ตัวที่ร่างกายชอบใช้มากที่สุดคือ BHB เอาละค่ะเรามาทำความเข้าใจกับอิทธิพลในทางบวกของ Ketones กันค่ะ

1. เมื่อเซลล์ใช้คีโตนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน มันผลิต ROS น้อยกว่าเมื่อใช้กลูโคสเป็นเชื้อเพลิง30 ถึง 40% ดังนั้นคีโตนจึงเป็นเชื้อเพลิงสะอาดกว่ากลูโคสมาก นำไปสู่การรักษาสุขภาพของไมโตคอนเดรีย

2. การที่ร่างกายเปลี่ยนไปใช้ไขมันทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งหมายถึงไม่มีน้ำตาลเป็นอาหารให้กับเซลล์มะเร็งเช่นกัน มันจึงเป็นโภชนาการที่มีประโยชน์ต่อการให้รักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบันในคนไข้มะเร็ง

3. BHB เป็นโมเลกุลสำคัญ ที่นำส่งสัญญาณ (signaling molecule) เพื่อให้เซลล์ทำหน้าที่ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการแสดงออกของยีน (Gene Expression)

4. คีโตน มีบทบาทสำคัญในการลดปฏิกิริยาอักเสบ โดยช่วยลดกิจกรรมของสารก่อการอักเสบกลุ่ม Cytokines (Pro-Inflammatory Cytokines) และช่วยเพิ่มกิจกรรมสารกลุ่มต้านการอักเสบ (Anti-Inflammatory Cytokines)

5. ข้อนี้ว้าวมากนะคะ คีโตนมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกับ Branched Chain Amino Acids (BCAA) และเซลล์กล้ามเนื้อก็ชอบใช้คีโตนมากกว่า BCAA นั่นหมายถึงคีโตนสามารถเป็นแหล่งโปรตีนสำรองได้ในยามที่เราบริโภคโปรตีนน้อย โดยที่ยังรักษาหรือเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้ นอกจากนั้น BCAA เป็นตัวกระตุ้น mTOR signaling pathway ที่ทรงพลังมาก ดังนั้นถ้าเราสามารถรักษาภาวะ Nutritional Ketosis ที่เสถียรไว้ได้ เราก็ยับยั้ง mTOR ได้เช่นกัน มี รายงานวิจัยว่าการลดกิจกรรมของ mTOR เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสุขภาพและยืดอายุขัย

6. มีรายงานวิจัยสนับสนุนว่า คีโตนให้ประโยชน์ต่อการปกป้องเซลล์สมองที่ต้องเผชิญต่อ Hydroxyl Free Radical ที่เกิดจากการมีระดับธาตุเหล็ก (Ferritin)สูง ซึ่งมักพบในสมองของคนที่มีโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของสมอง (Neurodegenerative diseases) เช่น dementia และ อัลไซเมอร์

7. คีโตน เพิ่มการสร้างไมโตคอนเดรียใหม่ในสมอง ซึ่งหมายถึงการช่วยเพิ่มพลังการทำงานของสมองให้มากขึ้น

ถึงแม้ว่าคีโตนจะมีประโยชน์มากมาย แต่การมีระดับคีโตนในเลือดอยู่ในระดับที่เรียกว่า Nutritional Ketosis ก็ไม่ใช่เป้าหมายของ MMT แต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป้าหมายหลักของ MMT อยู่ที่การทำให้ไมโตคอนเดรียทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ และจัดการที่ต้นเหตุของโรคเรื้อรัง ดังนั้นคีโตนจึงเป็นหนึ่งในหนทางแต่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด

 

เราจะทำสรุปวิธีรักษาสุขภาพของไมโตคอนเดรียในหลักการของ MMT 11 วิธี ว่ามีอะไรบ้างในอีก 2 ตอนข้างหน้า (เนื้อหาในหนังสือมันมีดีอีกมากเลยค่ะ ต้อง 5 ตอนจบ สรุปสั้นๆ พี่ปุ๋มทำไม่เป็น

 


มาเริ่มตอนที่สามกันค่ะ

 

ความย้อนแย้งของโปรตีน (Protein Paradox)

โปรตีนมีความจำเป็นยิ่งยวดต่อสิ่งมีชีวิต มันเป็นส่วนประกอบในโครงสร้างของเอนไซม์ ตัวรับที่ผิวเซลล์ (Receptors) และโมเลกุลที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณต่างๆ (Signaling molecules) เป็นส่วนประกอบหลักของกล้ามเนื้อและกระดูก นอกจากนั้นโปรตีนยังทำหน้าที่เป็นพาหนะขนส่งสารสำคัญไปให้เซลล์ (เช่น Lipoprotein เป็นโปรตีนที่ใช้เป็นพาหนะขนส่งไขมันที่สร้างจากตับ ไปให้เซลล์ทั่วร่างกาย-พี่ปุ๋ม) และกรดอะมิโนก็ยังใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนและวิตามินต่างๆ

 

› ที่โปรตีนมีความย้อนแย้งในเรื่องการรักษาสุขภาพของไมโตคอนเดรียก็เพราะ ธรรมชาติของทุกสิ่งมีชีวิต ต้องการส่งต่อพันธุกรรมเพื่อความอยู่รอด เมื่อเซลล์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุดมไปด้วยสารอาหาร มันจะส่งสัญญาณว่ามีโปรตีนเพิ่ม (Positive Nitrogen Balance) เพื่อกระตุ้นการเจริญพันธุ์ แบ่งเซลล์ (Growth and Proliferation mode)

ทุกขณะที่เซลล์อยู่ในโหมดการเจริญพันธุ์และแบ่งเซลล์ โดยมีโปรตีนเป็นตัวกระตุ้นทึ่สำคัญ มันจะชะลอขบวนการซ่อมแซมและปรับปรุงเซลล์ ที่จำเป็น (Repair and maintenance mode) เช่น Autophagy ที่มีหน้าที่ขจัดของเสีย ทำให้เครื่องจักรภายในเซลล์ที่สำคัญเช่นไมโตคอนเดรีย ใช้ไปได้อีกนาน (การยืดอายุขัย) ธรรมชาติไม่สนใจว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะมีอายุขัยได้ยาวขนาดไหน ธรรมชาติต้องการการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์นั้น

ด้วยเหตุนี้โปรตีนจึงมีความย้อนแย้งในฐานะที่มันเป็นทั้งตัวส่งต่อพันธุกรรมเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ และตัวลดอายุขัยของสิ่งมีชีวิตนั้น (พี่ปุ๋มโชคดีที่มีโอกาสได้ฟังเลคเชอร์ของ Professor ท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วแบบ ว้าว ว้าว ว้าว ตลอดการฟังเลคเชอร์เลย)

› โปรตีนในปริมาณที่มากเกินไป (Positive Nitrogen Balance) ส่งผลในทางลบกับไมโตคอนเดรียได้อย่างไร เราต้องมาทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับ Nutrient sensors 4 ตัวต่อไปนี้กันก่อนค่ะ

1. การจำกัดแคลอรี่ (Calorie Restriction)

› มีรายงานการศึกษาในสัตว์ทดลองมากมาย ที่แสดงว่าการจำกัดแคลอรี่เกี่ยวข้องกับการยืดอายุขัย รักษาสุขภาพ และชะลอกระบวนการแก่ชรามาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าผลลัพธ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วย ถือเป็นโภชนาการมาตรฐานเลยทีเดียว

› การจำกัดแคลอรี่ที่ว่าหมายถึงการลดปริมาณแคลอรี่ที่รับประทาน แต่ต้องมากพอที่จะไม่ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ การจำกัดแคลอรี่สามารถเปลี่ยนการแสดงออกของยีนนับพัน ซึ่งยีนในกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาว บางยีนก็มีบทบาทในกระบวนการเมตาบอลิสม การเจริญของเซลล์ การสืบพันธุ์ การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน และกระบวนการทางชีวะภายในร่างกายอีกหลายอย่าง

› โภชนาการที่จะให้ผลลัพธ์เป็นการจำกัดแคลอรี่แต่ไม่ทำให้เกิดการขาดสารอาหารก็คือ การใช้โภชนาการไขมันดีสูง โปรตีนเพียงพอ และคาร์โบไฮเดรตต่ำ เพราะถ้าเป็นโภชนาการคาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันดีต่ำ จะทำให้มีโอกาสขาดกรดไขมันจำเป็นได้

› ปรากฏข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า การจำกัดแคลอรี่ อาจจะไม่ใช่ตัวการที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ยืดอายุขัย ชะลอการแก่ชราอย่างที่เราเข้าใจมา 60 ปี แต่อาจเกิดจากการลดปริมาณโปรตีนที่บริโภคลง โดยเฉพาะกรดอะมิโนที่ชื่อ เมไธโอนีน ซึ่งพบปริมาณมากในเนื้อสัตว์ เราจำเป็นต้องลดปริมาณเมไธโอนีนลง แต่ต้องไม่ลดมากจนส่งผลเสียต่อการสร้างกลูธาไทโอน หนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังที่สุด (ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ตัวคือ กลูตามีน ซิสเทอีน และ ไกลซีน) นี่ก็เป็นความย้อนแย้งของโปรตีนอย่างหนึ่ง

2. อินซูลิน

› อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่พบในสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดบนโลก ตั้งแต่หนอน แมลงจนถึงมนุษย์ หน้าที่หลักของอินซูลินคือ ควบคุมการเก็บสะสมสารอาหารเอาไว้ใช้ในยามขาดแคลน โดยการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตไปเป็นไขมัน

› นอกจากนั้นอินซูลิน ยังทำหน้าที่เร่งกระบวนการแก่ชรา โดยถ้าร่างกายรับรู้ว่ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ อินซูลินจะทำการควบคุมให้ร่างกายแบ่งตัวสืบพันธุ์ เพื่อสร้างชีวิตใหม่และปิดโหมดบำรุงรักษาเซลล์ (maintenance or preserving mode)

› ดังนั้นการลดระดับอินซูลินได้มากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงความไวต่ออินซูลินที่ตัวรับ(receptor) ก็จะดีมากเท่านั้น มีการศึกษามากมายในคนสูงอายุ ที่พบว่าระดับอินซูลินที่ต่ำและความไวอินซูลินที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวข้องกับการมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

3. Insulin-Like Growth Factor (IGF-1)

› การทานโปรตีนที่มากเกินความต้องการกระตุ้นการผลิตฮอร์โมน IGF-1 ชื่อมันก็บอกแล้วว่ามันเป็นญาติกับอินซูลิน ดังนั้นแน่นอนที่มันก็มีบทบาทที่คล้ายกับอินซูลินด้วยเช่นกัน ฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้มันคล้ายกันมากซะจน มันสามารถจะข้ามไปจับกับตัวรับ(receptor)ของกันและกันได้

› Human Growth Hormone (HGH) ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสัญญาณให้มีการสร้างและหลั่ง IGF-1 ทั้ง HGH และ IGF-1 กระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวเพื่อการเจริญพันธุ์ ทำให้ร่างกายอยู่ในโหมด Anabolism แม้จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น(มวลกล้ามเนื้อเพิ่ม) แต่มันก็มีราคาที่ต้องจ่ายคือ IGF-1 เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นกระบวนการแก่ชราที่ทรงพลังมาก

4. The mammalian Target Of Rapamycin (mTOR)

 

mTOR Signaling Pathway ในเซลล์สิ่งมีชีวิต
mTOR Signaling Pathway ในเซลล์สิ่งมีชีวิต

 

› mTOR เป็นโปรตีนที่ซับซ้อนชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวรับรู้สารอาหารและส่งสัญญาณ (nutrient sensor & nutrient signaling pathway) ที่สำคัญที่สุดในร่างกาย

› ทั้งๆที่ mTOR เป็นโปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตมานานแสนนาน แต่พึ่งมาค้นพบ mTOR ในระหว่างกระบวนการพัฒนายาต้านมะเร็งชื่อ Rapamycin ซึ่งได้จากแบคทีเรียที่ถูกค้นพบบนเกาะ Easter ในปลายทศวรรษ 1960

› mTOR เป็น nutrient sensor หลัก ที่สร้างมวลกล้ามเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เมื่อไม่มีการกระตุ้น mTOR signaling pathway เซลล์จะเข้าสู่โหมดซ่อมแซมและปรับปรุงกระบวนการต่างๆ (maintenance mode) ด้วยการกำจัดขยะที่เสียหายทิ้งผ่านกระบวนการ Autophagy ซ่อมแซมดีเอ็นเอ และกระตุ้นสารต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์ และ Heat Shock Protein (HSP)

› ตัวกระตุ้น mTOR ที่สำคัญมากๆคือโปรตีนที่มากเกินไป เพราะมันส่งสัญญาณให้เซลล์เติบโตและแบ่งตัว เมื่อไหร่ที่มันอยู่ในโหมดเติบโตและแบ่งตัว มันจะยับยั้งการซ่อมแซมและสร้างใหม่ของไมโตคอนเดรีย และการซ่อมแซมระดับเซลล์

› ดังนั้น ถ้าเราสามารถคงไว้ซึ่งระดับน้ำตาลที่ต่ำ โปรตีนที่ไม่มากเกินไป อินซูลินที่ต่ำและ growth factor เช่น IGF-1 ที่ต่ำ เราจะยับยั้ง mTOR signaling pathway ผลลัพธ์ก็คือมีการส่งเสริมการซ่อมแซมสร้างใหม่ของไมโตคอนเดรีย

› ถึงแม้ว่าเราจะทำทุกสิ่งอย่างเพื่อควบคุมระดับกลูโคสและอินซูลินให้ต่ำได้แล้ว แต่แค่ทานโปรตีนเกินความต้องการก็สามารถกระตุ้น mTOR signaling pathway ได้เลย

นี่เป็นเหตุผลที่โภชนาการในแต่ละวันส่งผลอย่างมหาศาลต่อสุขภาพโดยรวมของเราว่าจะมีสุขภาพดีอายุยืนยาวไปได้แค่ไหน

 

ตอนที่ 3 ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ ยาวมากๆ พี่สรุปเก็บไว้อ่านเองด้วย เพราะมีประโยชน์มากๆ

ก็เมื่อโปรตีนมันย้อนแย้งแบบนี้ คือทานมาก ไมโตคอนเดรียก็อายุสั้น แก่เร็ว ทานน้อยไปกล้ามเนื้อก็ไม่แข็งแรง ลดการเจริญพันธุ์และการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์

› แล้วต้องทานโปรตีนขนาดไหนจึงจะเหมาะสมต่อการมีสุขภาพดีของไมโตคอนเดรีย

› ช่วงอายุ มีความสำคัญต่อปริมาณโปรตีนที่ควรทานในแต่ละวันไหม

 


เรามาติดตามต่อกันในตอนที่ 4 นะคะ

ขอความมีสุขภาพกายใจที่ดี จงสถิตอยู่กับทุกคน